HomeUncategorizedช่องแคบฮอร์มุซ จุดยุทธศาสตร์น้ำมันโลกในมืออิหร่าน

ช่องแคบฮอร์มุซ จุดยุทธศาสตร์น้ำมันโลกในมืออิหร่าน

ตลาดน้ำมันโลกยังคงปั่นป่วน โดยราคาน้ำมันดิบกลับมาทะยานขึ้นกว่า 4% จากความวิตกว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านเสี่ยงกระทบซัพพลายน้ำมัน เมื่ออิหร่านเปิดฉากโจมตีฐานทัพสหรัฐในอิรักช่วงเช้าวันนี้ หลังแย้มว่ากำลังเตรียมงัด 13 มาตรการมาใช้แก้แค้นสหรัฐจากกรณีประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งสังหาร กัสเซม โซเลมานี นายพลคนสำคัญของอิหร่าน 

ปมขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านที่ทวีความรุนแรงขึ้น ปลุกความกังวลว่า หากสถานการณ์ดุเดือดขั้นสุด อิหร่านจะเลือกตอบโต้ด้วยการปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” หรือไม่ หลังเคยขู่เมื่อปีที่แล้วว่า จะปิดช่องแคบดังกล่าวเพื่อตอบโต้ที่สหรัฐกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอิีกครั้ง 

แม้หลายฝ่ายมองว่าช่องแคบฮอร์มุซเป็นไม้ตายของอิหร่านในการตอบโต้สหรัฐ แต่การจะปิดช่องแคบแห่งนี้ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนคำขู่ และอาจจะเป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงอิหร่านเสียเอง 

จากการที่น้ำมันสัดส่วนถึง 76% ที่ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศเอเชีย ทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และประเทศเอเชียอื่นๆ หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจริงย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับจีน 

นอกจากแง่การเสียประโยชน์ทางการค้าและกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว การจะปิดช่องแคบไม่ใช่สิ่งที่อิหร่านสามารถทำได้เพียงลำพัง เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สหรัฐเพิ่่งก่อตั้งกองกำลังความร่วมมือกับนานาชาติชื่อ International Maritime Security Construct (IMSC) เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์บริเวณอ่าวอาหรับ ช่องแคบฮอร์มุซ อ่าวโอมาน และช่องแคบบับเอลมันเดบ 

ทำไมช่องแคบฮอร์มุซถึงสำคัญ 

ช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) เป็นช่องแคบเล็ก ๆ ที่อยู่ระหว่าง 3 ประเทศได้แก่ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิหร่าน เชื่อมต่อระหว่างอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน 

ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของโลก โดยการส่งน้ำมันผ่านช่องแคบนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 21% ของทั่วโลก อยู่ที่เฉลี่ยวันละ 21 ล้านบาร์เรล/วัน ตามข้อมูลของสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) นอกจากนี้ยังมีการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ผ่านช่องทางนี้ถึง 1 ใน 4 ของโลกอีกด้วย

หากลองเปรียบเทียบกับเส้นทางส่งน้ำมันอื่นๆ ช่องแคบฮอร์มุซคือเส้นทางที่มีการขนส่งน้ำมันมากที่สุดในโลกราว 19 ล้านบาร์เรล /วัน รองลงมาเป็นช่องแคบมะละกามีการขนส่งน้ำมันผ่านเส้นทางนี้วันละ 16 ล้านบาร์เรล /วัน ส่วนบริเวณคลอดสุเอซ (Suez Canal) ของอียิปต์มีการขนส่งน้ำมันราว 6 ล้านบาร์เรล/ วัน และในช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab-el-Mandeb) มีการขนส่งน้ำมันผ่านทางนี้เพียง 5 ล้านบาร์เรล/ วันเท่านั้น

น้ำมันส่วนใหญ่ที่ผ่านช่องแคบดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นของสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และการ์ตา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกก๊าซ LNG รายใหญ่สุดของโลก มีจุดหมายปลายทางไปยังประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา 

หวั่นต้นทุนน้ำมันแพง 

แม้ความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซมีน้อยมาก แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ ย่อมส่งผลให้ต้นทุนน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งเริ่มมีสัญญาณให้เห็นแล้วว่า อัตราค่าขนส่งของตลาดโลก (Worldscale) กำลัังเพิ่ม เพราะสถานการณ์เสี่ยง ทำให้การขนส่งน้ำมันยากลำบากมากกว่าเดิม 

บลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า บรรดาเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันได้ปรับขึ้นค่าขนส่งน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียไปยังจีน ไปอยู่ที่ 165 – 180 ตามอัตราตลาดโลก จากเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ 140 – 150 นับปรับขึ้นมาสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงสหรัฐสั่งปลิดชีพนายพลอิหร่าน ซึ่งอัตราค่าส่งอยู่ที่ 122 

จากการที่อัตราค่าขนส่งน้ำมันเพิ่มขึ้นมาล่าสุด บ่งชี้ว่า ประเทศเอเชียหลายแห่งที่ยังคงพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากชาติตะวันออกกลางเป็นหลัก อาจต้องหาทางรับมือผลกระทบจากต้นทุนน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

“นลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์” ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ยังคงประมาณการณ์เรื่องระดับราคาน้ำมันปีนี้ไว้ที่ระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล อยู่ เนื่องจากมองว่าตอนนี้ปริมาณซัพพลายน้ำมันไม่ได้มีปริมาณที่น้อย หากเทียบกับเมื่อก่อน โดยเฉพาะจากเชลล์ออยล์ของสหรัฐที่มีเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน