HomeOn Radarsสหรัฐ ปะทะ อิหร่าน ศึกนี้ยังอีกยาว

สหรัฐ ปะทะ อิหร่าน ศึกนี้ยังอีกยาว

นับว่าต้องจับตาสถานการณ์กันแบบวันต่อวันเลยทีเดียวสำหรับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านในตอนนี้ เพราะล่าสุดมีรายงานข่าวว่า รัฐสภาอิหร่านลงมติผ่านร่างกฎหมายอย่างเป็นเอกฉันท์ ระบุว่ากองทัพสหรัฐและกระทรวงกลาโหมสหรัฐเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” 

ความเคลื่อนไหวที่ว่านี้ เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ข่มขู่ว่าจะโจมตีพื้นที่สำคัญ 52 แห่งในอิหร่าน หากอิหร่านคิดล้างแค้นให้ กัสเซม โซเลมานี นายพลคนสำคัญของอิหร่านที่ถูกสหรัฐสังหารไป 

ด้าน จาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า การตัดสินใจปลิดชีพนายพลโซเลมานีเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ และการตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านตกลงร่วมกับ 5 ชาติมหาอำนาจเมื่อปี 2015 นั้น “บ่อนทำลายเสถียรภาพ” ในตะวันออกกลาง พร้อมเตือนว่าสถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าจะเกิดขึ้น หากสหรัฐไม่ยอมกลับลำ 

นอกจากนี้ อาลี ชัมคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน เปิดเผยว่า อิหร่านกำลังพิจารณาใช้ “13 กลยุทธ์” เพื่อล้างแค้นสหรัฐ 

“เรากำลังหารือมาตรการ 13 รูปแบบ ที่แม้กระทั่งทางเลือกที่ดูรุนแรงน้อยที่สุดก็จะเป็นฝันร้ายครั้งประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกัน” 

แม้ขณะนี้ อิหร่านยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะตอบโต้สหรัฐอย่างไร แต่ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าทีุ่ยุโรปว่า อิหร่านมีหลายตัวเลือกในการตอบโต้ เช่น เพิ่มเงินสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบในตะวันออกกลาง เช่น กลุ่มฮามาส สัญชาติปาเลสไตน์ หรือกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน 

ถึงการโต้กลับของอิหร่านอาจจะไม่ใช่การทำสงครามเต็มรูปแบบ แต่ก็มีแนวโน้มสูงมากว่าอิหร่านต้องโจมตีกลับอย่างแน่นอน 

ในวันนี้ อิหร่านยังโหวตเพิ่มงบอีก 200 ล้านยูโร (6,700 ล้านบาท) ให้กับกองกำลังคุดส์ (Quds Force) สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ที่เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพของอิหร่านในอีก 2 เดือนข้างหน้าด้วย เพื่อ “เพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตัวเอง” โดยนายพลโซเลมานีที่สิ้นชีพไป ก็เคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์

และอีกหนึ่งวิธีที่เป็นไปได้สูงมากว่าอิหร่านจะเลือกใช้คือ “การโจมตีทางไซเบอร์” ซึ่งอิหร่านมีขีดความสามารถในด้านนี้อยู่ไม่น้อย โดยช่วงปี 2011-2013 แฮกเกอร์อิหร่านเคยเจาะระบบแบงก์ใหญ่ระดับโลกอย่าง JPMorgan Chase, Bank of America และ Wells Fargo ส่วนเมื่อปี 2018 แฮกเกอร์อิหร่านที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เจาะเข้าไปขโมยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหลายร้อยแห่งในสหรัฐ 

ความเสี่ยงทางการเมืองคัมแบ็ก 

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดน้ำมันโลก โดยเมื่อวานนี้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นไปแตะ 70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือน จากความวิตกว่าอิหร่านอาจหาทางขัดขวางการขนส่งน้ำมันผ่านทางช่องแคบฮอร์มุซ หลังเคยโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันและโดรนของสหรัฐที่แล่นผ่านเส้นทางดังกล่าวมาแล้วช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ปีที่แล้ว เมื่อสถานการณ์ระหว่างสองชาติตึงเครียด

ช่องแคบฮอร์มุซ ถือเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญ โดยการขนส่งน้ำมันผ่านเส้นทางดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของตลาดโลก 

นอกจากตลาดน้ำมันแล้ว ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านยังกระทบต่อการลงทุนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้นักลงทุนต่างหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ” มากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอน 

ก่อนหน้านี้ ทองพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี ไปอยู่ที่ 1,580 ดอลลาร์สหรัฐ/ ออนซ์ โดยโกลด์แมน แซคส์ มองว่า หากสถานการณ์ตะวันออกกลางรุนแรงยิ่งขึ้น ทองอาจพุ่งแตะ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ/ ออนซ์ ด้านบลูมเบิร์กระุบุว่า กองทุน ETF ทองคำ ถือครองทองมากที่สุดในรอบ 2 เดือน อยู่ที่ 81.6 ล้านออนซ์