ใกล้จะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เต็มที่แล้ว สำหรับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) หรือ บสก.
ล่าสุด ได้กำหนดเสนอขายหุ้น IPO จำนวนรวมกันไม่เกิน 1,535 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และนอกจากนี้ อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท ระหว่างวันที่ เปิดจองวันที่ 25-29 พ.ย.นี้ ที่ช่วงราคาเสนอขาย 15.50-17.50 บาทต่อหุ้น
โดยผู้ลงทุนสามารถจองซื้อที่ราคาเสนอขายสูงสุดและทางบริษัทฯ จะคืนเงินส่วนต่างในกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรหรือราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย ผ่านธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ คาดว่าหุ้นสามัญของ BAM จะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ได้ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. นี้
BAM คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม (ตามข้อมูลในรายงานภาวะอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยบริษัท อิปซอสส์ จำกัด) และ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากว่า 20 ปี ปัจจุบัน BAM มีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,245 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 13,675 ล้านบาท โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้น 99.99%
บริษัทมีวัตถุประสงค์การระดมทุน จะนำเงินที่ได้จากการลงทุนไปชำระหนี้เพื่อลดดอกเบี้ย พร้อมกับนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้ในการร่วมประมูลสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยทำให้ราคาซื้อขายดีขึ้น ลดภาระหนี้ในการผ่อนชำนะต่อ หรือมีความสามารถในการซื้อทรัพย์สินกลับมาเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งบริษัทเน้นการบริหารมุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไทยในระยะยาว อีกทั้งบริษัทยังเดินหน้า 3 กลยุทธ์ คือ การขยายฐานสินทรัพย์ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาการดำเนินงานการเรียกเก็บเงินให้เร็วขึ้น และการพัฒนาบุคคลากรของบริษัท เพื่อเป็นการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทเป็นบริษัทสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างต่อเนื่อง
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM กล่าวถึง จุดแข็งของบริษัท ดังนี้
- มีเครือข่ายสาขามากที่สุด โดยมีสำนักงานใหญ่และสาขารวม 26 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานกว่า 1,200 คน ช่วยให้บริษัทสามารถติดตาม และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถประเมินราคาทรัพย์สินได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทมีช่องทางและฐานลูกค้าที่กว้างขวางทั่วทุกภูมิภาค สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัย และนักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี
- มีผลการดำเนินงานในการจัดหา บริหารจัดการ และสร้างกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ที่แข็งแกร่ง
- มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
- มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและยั่งยืนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต และกรรมการและทีมผู้บริหารระดับสูงของ BAM ล้วนมีประสบการณ์
สำหรับผลการดําเนินงานและฐานะทางการเงินของ BAM ระหว่างปี 2559-2561 นั้น มีรายได้เติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี มีกําไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 3.0% ต่อปี ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2562 BAM มีรายได้รวม 9,206 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท อีกทั้ง BAM ยังมีศักยภาพในการเติบโตจาก NPLs และ NPAs ในระบบธนาคารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ราคาประเมินของหลักทรัพย์คํ้าประกันมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ NPLs ของ BAM กว่า 2.4 เท่า (ราคาประเมินของหลักทรัพย์คํ้าประกัน = 195,554 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 79,136 ล้านบาท) และราคาประเมินของ NPAs ของ BAM มีมูลค่าสูงกว่า มูลค่าทางบัญชีกว่า 2.3 เท่า (ราคาประเมิน = 54,467 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 23,245 ล้านบาท)
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ หลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจจองบริษัท และภายหลังจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2561) บริษัทมีการจ่ายเงินปันผล 80% 97% และ 60% ตามลำดับ
You must be logged in to post a comment.