HomeUncategorizedรับแรงบันดาลใจจากอดีตมนุษย์เงินเดือนสู่ผู้มีอิสรภาพทางการเงิน

รับแรงบันดาลใจจากอดีตมนุษย์เงินเดือนสู่ผู้มีอิสรภาพทางการเงิน

สำหรับ Speaker คนที่ 2  ที่ทีมงานจะมาเสนอรายละเอียดในงาน StockRadars Day 2019 “ติดเรดาร์หาโอกาสในตลาดหุ้นไทยปี 2020”คือ “ศรุติ โชติเสรีวิทย์” เจ้าของเพจ Stock Vitamin ที่จะมาช่วยเล่าประสบการณ์ในอดีตที่เคยลงทุนหุ้นเมื่อ 15 ปีก่อน แต่ก็ต้องผิดหวังกับตลาดหุ้นไป จนกระทั่งการกลับอีกครั้งจากการเตรียมความพร้อม ทำการบ้านอย่าขะมักเขม้นจนรู้ว่าตัวเองถนัดการลงทุนแบบไหน และมีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจนว่าเพื่ออะไร ต้องการผลตอบแทนเฉลี่ยปีละเท่าไร จนปัจจุบันกลายเป็นอดีตมนุษย์เงินเดือนที่สามารถออกมาใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ พร้อมกับมีเวลาให้ครอบครัว และที่สำคัญมีเวลาแลกเปลี่ยนและนำเสนอในสิ่งที่ตัวเองถนัดเพื่อบอกเล่าให้คนทั่วไปได้รับแรงบันดาลใจจากเขา กับห้วข้อ “เปิดสูตรการลงทุน จับคาแรกเตอร์หุ้นเติบโต” 

Beginner’s Luck สู่ Beginner’s Loss

“ศรุติ” เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จากการเริ่มต้นลงทุนด้วย “หู” จากเพื่อนที่เป็นมาร์เก็ตติ้งที่อยู่โบรกเกอร์ต่างๆ จากหุ้นตัวแรกที่เพื่อนบอก ถัดไปเพียงไม่กี่วันหุ้นก็บวกไปกว่า 10 % ทำให้รู้สึกง่ายมาก ซื้อตัวที่สองก็บวก 20 % พอตัวที่ 3 รีบโทรหาเพื่อนและเพื่อนก็บอกว่าตัวนี้มั่นใจบวก 30% แต่ผลที่ออกมามันดันกลับด้านกัน  กลายเป็นขาดทุนไป 30 % จนตัวที่ 4 5 6 ทุกตัวก็ติดลบไปหมด เพราะตอนนั้นไม่มีความรู้อะไรเลย จนเริ่มตั้งสติว่าเงินที่เคยเก็บเริ่มไม่พอ นึกได้ว่าคนในตลาดหุ้นชอบพูดว่า สิ่งที่เราเจอตอนนี้น่าจะเป็น “โชคของมือใหม่ (Beginner’s Luck)” เท่านั้น ที่พอเข้าตลาดหุ้นมาครั้งแรกก็ได้กำไรเลยและก็ไม่ได้รู้สึกยาก และจาก Beginner’s Luck กลายเป็น Beginner’s Loss แทน” จนไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง บอกว่า หากอยากรวยแค่ตั้งใจทำงาน ก็เลยตัดสินใจเดินออกจากตลาดหุ้นเลย ผสมกับตอนนั้นเงินเก็บเริ่มไม่มีแล้ว

หนังสือ ‘Start with Why’ ช่วยเปลี่ยนชีวิต

เมื่อเขาได้มาอ่านหนังสือ ‘Start with Why’ ของ ‘Simon Sinek’ ซึ่งเป็นวงกลม 3 วง ที่เริ่มจากวงกลมวงแรกคือ Why How และ What ที่ทำให้เห็นว่าหากเราจะเริ่มทำอะไรก่อนควรเริ่มต้นจากเหตุผลของการดำรงชีวิตว่าเราอยู่เพื่ออะไรกัน แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เขาเริ่มทำทุกอย่างข้างนอกก่อน  What นั่นคือการเล่นหุ้นด้วยหู How คือการลอกตัวหุ้นคนอื่น Why คือเพราะอยากรวยง่ายๆ ด้วยการไม่เหนื่อย ซึ่งทำให้เริ่มรู้สึกว่ากำลังทำทุกอย่างกลับด้านหมด จึงทำให้ขาดทุน และนั่นคือเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมผมถึงไม่ประสบความสำเร็จเมื่อ 15  ปีที่แล้ว

จากนั้นจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า Why? จนเป็นคำถามที่พยายามถามทุกวันว่า So why are you here Today?  และคำตอบที่ได้คือการเจอหน้าภรรยาและลูก ที่อยากเห็นครอบครัวมีความสุข แต่พออ่านเจอว่าการเลี้ยงเด็กเงินคนหนึ่งตลอดจนกว่าเขาเติบโตต้องใช้เงินคนละ 7-10 ล้านบาท ซึ่งเขามีลูกทั้ง 2 คนดังนั้นต้องใช้เงิน 20 ล้านบาท โดยรวมคือ ต้องมีเงินถึง 50 ล้านบาทถึงจะพอมีเงินใช้เมื่อถึงบั้นปลายชีวิต

“สรุปว่า การที่จะมี Happy Family ต้องเริ่มต้นจาก How ก่อนคือ ต้องมีทั้งเงินและเวลา เพราะเราอยากได้อิสรภาพทางการเงิน  แต่ถ้าทำงานดึกดื่นก็ไม่ได้เจอหน้าลูก What คือ ต้องลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เรามีและถนัด โดยต้องได้ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 26 % ต่อ ปี ซึ่งถ้ามีเงินเริ่มต้น 1 ล้านบาท ถ้ามีผลตอบแทน 26 % ผ่านไป 10 ปี จะได้ผลตอบแทนเป็น 10 ล้านบาท และผ่านไป 20 ปีจะได้ผลตอบแทนเป็น 100 ล้านบาท ผ่านไป 30 ปี จะมีเงินถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะพอเพียงต่อการใช้จ่ายการใช้ชีวิต 4 คน แต่ถ้าลดผลตอบแทนเหลือเพียง 15 % ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงระหว่างระดับที่ทุกคนคาดหวังผลตอบแทนที่ 10-20 % และถ้าผลตอบแทนเติบโตขึ้นเปลี่ยนหลักทุก 10 ปี จากเงินเริ่มต้น 1 ล้านบาทเท่ากัน สิ่งที่จะได้คือเงิน 10 ปี จะมีเงิน 4 ล้าน 20 ปี มีเงิน 16 ล้าน ถ้า 3 ปีจะมีเงิน 66 ล้านบาท”  

ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนต้องหาคำตอบให้ได้ว่า จริงๆ แล้ว แต่ละปีต้องการได้ผลตอบแทนจำนวนเท่าไร และบั้นปลายชีวิตต้องใช้เงินเท่าไร ถึงจะตอบโจทย์เราได้

เลือกแบบถนัดสุดเพื่อตีสุดแรงเหมือนเบสบอล

เขาบอกว่าได้ไอเดียจากวอร์เรน บัพเฟตที่มีการบอกว่าพูดถึงวงกลม “Circle of Competence” ที่แยกเป็นวงกลม 2 วง คือ “ What you Know” ซึ่งเป็นวงกลมที่บอกกับสิ่งที่เรารู้ กับ “What you think you know” วงกลมวงนอกคือสิ่งที่เราไม่รู้แต่เราชอบคิดว่าเรารู้เรื่องนั้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทำให้เขาได้รู้ว่าสิ่งที่เรารู้หรือสิ่งที่เราถนัดคืออะไร  ซึ่งก็ไม่ต่างกับเหมือนการตีเบสบอล

“เราไม่จำเป็นต้องหวดลูกทุกลูกเพื่อให้ได้โฮมรัน เรารอตีลูกที่เราถนัดที่สุดแล้วก็ค่อยตีไปสุดแรง ลูกมันจะมีโอกาสโฮมรันหรือเข้าวินมากที่สุด”

จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เริ่มทบทวนจากที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้วหลายบริษัท Consumer Product ที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ การสร้างแบรนด์ และค้นพบว่าความจริงเรามีความถนัดที่สุดอยู่แล้วในเรื่อง ของพื้นฐานภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องกลยุทธ์ โมเดลธุรกิจ หรืออะไรที่ทำให้มีการเติบโตของธุรกิจ และสามารถมาแกะในการลงทุนนั้นมีอะไรบ้าง

สไตล์ลงทุนเทียบตัวละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน

เขาได้เปรียบเทียบหลักการการลงทุนหรือคำขวัญการลงทุนแบบฉบับเขาเทียบกับคาแรกเตอร์ตัวละครเรื่องรักฉุดใจนายฉุกเฉิน คือ “หุ้นดี”  เปรียบเหมือนเป็นหมอเป้ง ที่เขาต้องรู้จักทุกอย่างในวิชาชีพและการรักษาโรคเป็นอย่างดี ต้องรู้จักษาโรคได้ทันอาการ เทียบกับประเภทหุ้นคือ ต้อง เข้าใจธุรกิจได้ดี มีความปลอดภัยดี มีการจ่ายปันผลที่ดีพอสมควร พอเราเข้าใจแล้ว ก็สามารถคัดเลือกหุ้นที่ดีได้

สอง “มีคุณธรรม” เปรียบเป็นหมอเต่าที่คอยช่วยเหลือคนเพราะเป็นจรรยาบรรณของวิชาชีพหมอ เทียบกับการเลือกหุ้นคือ เลือกหุ้นที่ไม่มีคดีความ หรือผู้บริหารบริษัทนั้นต้องไม่มีประวัติที่ไม่ดี และ “ขยันทำกำไร” เปรียบเป็นเหมือนหมอฉลามที่คอยดูแลห่วงใยและเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา เช้าถึงเย็นถึง คือ หุ้นที่มีเติบโตกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี คอยดูแลบริษัทเอาใจใส่ตลอดเวลา

เชื่อว่า หากมีการเลือกหุ้น 3 แบบนี้จะสามารถตัดหุ้นในตลาดที่มีกว่า 700 ตัว ได้เหลือเพียง 50 % หรือประมาณ 350 ตัว ที่มาคัดเลือกแล้วก็ใช้โอกาสในการเลือกหยิบหินทีละก้อนได้

เทียบวิธีการเลือกหุ้นเติบโตตามการ์ตูน

แบบแรกคือ “Super Saiya”

พระเอกของเรื่องที่ชื่อซุนโงกุน คือเป็นผู้ที่มีการพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ  ไม่มีคำว่ายอมแพ้ โดยพร้อมจะก้าวข้ามขีดข้อจำกัดของตัวเองจนกลายเป็น Super Saiya ซึ่งเปรียบเทียบกับหุ้นที่มีการเติบโตทีละนิด ที่พยายามทำให้ตัวเองเก่งขึ้นเรื่อย เช่น มีการเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) เพิ่มขึ้นทีละนิด และควบคุมต้นทุนการบริหารและค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ดีขึ้น สุดท้ายกำไรสุทธิก็จะกลับมา เช่น บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด (ASIAN) ที่ทำส่งออกอาหารทะเลกุ้ง โดยปี 2016-2017 พอร์ตเขาเริ่มนิ่ง แต่เห็นกำไรของธุรกิจอาหารสัตว์ดี และพฤติกรรมคนซื้อจะยาวสำหรับคนรักสัตว์จะเข้าใจดี เลยเริ่มลงทุน ผลปรากฎว่าภายในปีเดียว สัดส่วนยอดขายอาหารสัตว์กระโดดขึ้นไป จาก 17 % เป็น 26 % สุดท้ายอัตราการทำกำไรก็ดีขึ้นต่อเนื่องและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น กำไรกระโดด และราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น 4-5 เด้งในปีนั้น ซึ่งความจริงหุ้นแบบนี้ตอนแรกจะไม่ค่อยมีวอลุ่ม แต่พอไปจับจุดว่าเห็นรายได้เป็นหมื่นล้าน เขามีการปรับตัว ก็ทำให้มีการเติบโต

ตัวอย่างที่สองคือ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ที่เดิมก็มักมีการเติบโตจากการขยายสาขา จนวันหนึ่งพัฒนาการมีสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (เฮ้าส์แบรนด์) ซึ่งปกติจะสร้างการมีมาร์จิ้นที่ดี จนตอนนี้ HMPRO มีสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ถึง 20  % และเป็นตัวขับเคลื่อนเขาเติบโตได้ และหลายๆ บริษัทก็กำลังสร้างเฮ้าส์แบรนด์เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) บริษัท ดูโฮม (DOHOME) และบริษัท โรบินสัน (ROBINS) ซึ่งเชื่อว่าถ้าเราเริ่มหาและจับคาแรกเตอร์หุ้นพวกนี้ได้ก็จะมีโอกาสมากขึ้น

แบบที่สองคือ “โนบิตะ”

โนบิตะที่บุคลิกขี้แย สอบตก ได้ 0 คะแนน จนมีโดเรม่อนเพื่อช่วยให้การเรียนดีขึ้นและไม่โดนรังแก เทียบกับหุ้นที่อาจมีปัญหาระหว่างทาง ค่าน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิต ค่าเงินบาทแข็งค่า แต่จุดหนึ่งจะเห็นจุดต่ำสุดของมัน และเมื่อเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เท่าไรก็จะเริ่มเติบโต และสามารถเริ่มลงทุนได้

ตัวอย่างที่เห็นชัดปี 2562 คือ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) ที่เคยแย่งจองหุ้นไอพีโอกันที่ 13 บาทเมื่อหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อฟองสบู่ชาเขียวแตก ลงทุนอินโดนีเซียไม่สำเร็จหุ้นตกไปที่ 3 บาท แต่เริ่มเห็นสัญญาณกลับมาโตได้ โดยใช้หลักอะไรที่อะไรไม่ดีก็จะตัดทิ้งเพื่อให้ตัวเครื่องจักรสามารถรันได้เร็วขึ้น และเพื่อให้ยอดขายโฟกัสมากขึ้น เน้นขายสินค้าแมสเป็นหลัก อย่างที่อินโดฯ ก็เปลี่ยนไปขายชาไทย อะไรที่ไม่ดีก็เลือกขายอย่าง ไบเล่ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง T 247 จากราคาหุ้น 3 บาทเด้งมาที่ 8 บาท หรือเกือบ 3 เด้งได้ เช่นเดียวกับหุ้น บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) ยอดขายแต่เริ่มเห็นจุดต่ำสุดแล้ว จากที่ต้องเจอต้นทุนน้ำมันสูงตาม แต่เมื่อราคาน้ำมันถูกลง เขาเริ่มสต็อกใหม่ ซึ่งทำให้เห็นต้นทุนใหม่ที่ราคาน้ำมันลดลงมา ทำให้ราคาหุ้นเด้ง  

ในมุมมองเขาก็มีที่แบบฉบับที่ โนบิตะยังสอบตกต่อเนื่องโดยที่เขายังไม่เจอกับโดเรม่อนคือ บริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล (SIAM) ที่ทำเฟอร์นิเจอร์เหล็ก และทำโรงไฟฟ้าของตัวเองสร้าง 3 ปี เพิ่งเสร็จเมื่อไตรมาส 4 แต่ระหว่างทางมีแต่ค่าใช้จ่ายจนราคาลดลง 4 บาทมาเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ถ้าผู้ลงทุนสามารถจับคาแรกเตอร์ได้ถูก แต่ก็ต้องดูจังหวะให้เป็นด้วย ว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือถ้าอนาคตเกิดขึ้นจริงแล้วยังจะมีโอกาสเติบโตได้อีกหรือไม่

เตรียมตัวให้พร้อมรับโอกาส

ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว  Beginner’s Luck ไม่ได้มีจริง ถึงตอนนี้เขาเชื่อว่า คำว่า “โชคดีจริงๆ จะต้องมาจากการที่เรามีการเตรียมตัวให้พร้อมกับโอกาสที่เข้ามา เพราะโอกาสมันมีอยู่เสมอ แต่เราจะมีความพร้อมสำหรับช่วงนั้นหรือเปล่า ซึ่งถ้าเราพร้อมและบวกกับโอกาสที่ดีก็จะถือว่าเป็นโชคดีของเรา”

ฝากวิตามิน 3 เม็ด

แม้ว่าจะเกิดวิกฤต  ผู้ลงทุนต้อง หนึ่ง “ห้ามขาดทุน” และถ้าขาดทุนไปแล้ว สอง “ห้ามตาย” ความหมายคือ ต้องพอมีเงินสดให้เหลือรอด เหลือกำลังใจที่ต้องพร้อมสู้และพร้อมที่จะกลับมาใหม่ และ สาม “หุ้นขึ้นต้องมีเรา” เพราะวิกฤตจะเกิดเมื่อไรไม่มีใครรู้ หรือวิกฤตจะเกิดหรือเปล่า แต่ถ้าเกิดขึ้นมามาแล้วฟื้นเป็นขาขึ้นเมื่อไรควรต้องมีเราอยู่ในนั้น