HomeUncategorizedเมื่อ ‘เสี่ยป๋อง’ มองภาพเศรษฐกิจและหุ้นไทยปี 2020

เมื่อ ‘เสี่ยป๋อง’ มองภาพเศรษฐกิจและหุ้นไทยปี 2020

หลังจากงาน StockRadars Day 2019 ได้ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทางทีมงานจะขอนำรายละเอียดของ Speaker แต่ละท่านมานำเสนอให้ผู้อ่านผ่านทั้งทางเพจเฟสบุคและ StockRadars.news โดยคนแรกคือ “วัชระ แก้วสว่าง” หรือ “เสี่ยป๋อง” เซียนหุ้นพันล้าน กับหัวข้อ “ติดเรดาร์หาโอกาสในตลาดหุ้นใหม่ปี 2020″

สถิติในอดีตทำให้เกิดความกังวล

เสี่ยป๋อง มองว่า  2 ปีที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความหวาดระแวงและกลัวมาตลอดเพราะผู้รู้หรือฝ่ายวิจัยต่างๆ เล่าให้ฟัง ถ้ามีปรากฎการณ์ Inverted Yield Curve เมื่อไรให้ระวัง เพราะปีที่แล้วเกิดขึ้นครั้งหนึ่งทำให้ดัชนีดาวน์โจนส์ตกลงไป 24,000 จุด เลยอดคิดไม่ได้ว่าจะเกิดวิกฤต เนื่องจากสถิติในอดีตเคยบอกไว้

แล้วอีกสัญญาณหนึ่งที่เตือนคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มมีการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถ้ามีการลดดอกเบี้ย ครั้งแรกหุ้นยังจะขึ้นอยู่ แต่ครั้งที่ 2 หุ้นจะขึ้นแบบลังเล แต่ทำไมลดดอกเบี้ยแล้วตัวเลขถึงไม่ดีขึ้น นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจไม่ดีหรือเปล่าถึงต้องกระตุ้นด้วยการลดดอกเบี้ย และถ้ามีการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ส่วนใหญ่หุ้นจะลง

“ตอนนี้ทุกอย่างกลับไม่เหมือนเดิม เพราะสหรัฐลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 หุ้นสหรัฐกลับ All Time High ทำให้มองยาก เพราะที่ผ่านมาเราลงทุนมาก็จะตื่นตัวตลอดเวลาว่าต้องไม่ประมาท พอมีแรงขายก็ขายออกมาเพราะเป็นเรื่องปกติที่ต้องกลัว และการเตือนของ Inverted Yield Curve ใช่ว่าจะเกิดเลย สถิติเคยบอกไว้ 7-24 เดือน จะมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ไม่รู้ว่าจะมีขนาดใหญ่ หรืออาจจะไม่มีมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจเลยก็ได้  แต่ตอนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2008 ก่อนเกิดวิกฤตก็ไม่มีใครรู้มาก่อน และทุกอย่างก็เกิดขึ้นเพียงระยเวลา  4-5 เดือนเอง รวดเร็ว ร้อนแรงและทุกอย่างก็จบเลย ตอนนั้นดาวน์โจนส์ลงจากกว่าหมื่นจุดเหลือเหลือเพียงหลักพันจุด แล้วหุ้นก็กลับมาเด้ง ซึ่งเหมือนล้างไพ่ไปใหม่ แล้วก็มาเล่นใหม่”

ดังนั้น ครั้งนี้ทำให้มองว่าอาจจะจบเร็วก็ได้ แต่ก็ต้องดูต่อไป เพราะยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกกังวล เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจบางอย่างยังต่ำ  เช่น ดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ (PMI) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการระแวงได้ตลอดทาง แถมโลกปัจจุบันข่าวสารสื่อสารกันเร็วก็รู้กันหมด เลยระวังตัว ซึ่งปกตินักลงทุนสายเทคนิคก็เคลียร์พอร์ตตัวเองตลอดเมื่อเจอตัวไหนไม่ดี แล้วก็จะถือเงินสด เพื่อให้ไม่เกิดความเสียหาย

ต้องแยกสถานการณ์จริงในตลาดกับสิ่งที่กำลังทรานฟอร์ม

จริงภาพรวมตลาดหุ้นปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเดียวกันกับที่ทุกธุรกิจอยู่ในช่วงกำลังทรานฟอร์ม ธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงถูก Disruption เช่น แบงก์ที่อาจจะโดน Disruption จากแอพพลิเคชั่น ขณะที่ทิศทางเทรนด์ดอกเบี้ยที่เป็นขาลง ทำให้ธนาคารได้รับความสนใจน้อยลง

“การที่หุ้นนั้นไม่มี Growth ใช่ว่าหุ้นนั้นไม่ดี เพียงแต่นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบหุ้นที่มีการเติบโตเยอะๆ อะไรที่นิ่งๆ ก็ชอบขายออกไปก่อน เมื่อกราฟเทคนิคอ่อนลง คนที่มีเงินอยู่ก็ไม่อยากอยู่กับหุ้นที่ลง เลยต้องปรับพอร์ตและสวิชชิ่ง เกิดอาการของถูก ไม่มีใครเอา จนบางแบงก์หุ้นต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) 0.7-0.8 เท่า แต่ก็มีคนซื้อหุ้นที่ 40 เท่าของ P/BV และอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เป็น 100 เท่า”

นอกจากนั้น ตอนนี้เหมือนเป็นโลกสมัยใหม่ (New Normal) ในแต่ละส่วนจึงเหมือนเป็นเรื่องใหม่หมด หรือบางคนอาจเห็นค่าของบางตัวจริงและรู้เรื่องงรู้กิจการ แม้ P/E 100 เท่าก็ไม่กลัว เหมือนเราอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่บางเมืองอยู่สุขสบายดี แต่บางช่วงบางที่เดือดร้อน หุ้นธนาคารโดนถล่ม แต่คนเล่นหุ้นกลุ่มไฟฟ้าเพราะอยู่เมืองกรุง อยู่ที่ว่าเราอยู่เมืองไหน แต่สำหรับผมจำแนกว่ามันเป็นการ Lotation ของหุ้น กึ่งๆ หุ้นที่เป็นธุรกิจรุ่นเก่าๆ มันไม่มี Growth เพราะไม่ได้รับความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ ก็ขายออกไปลงทุนหุ้นที่เป็นเมกะเทรนด์แทน

“แต่ 4-5 วัน เริ่มมีการคิดใหม่ เพราะครึ่งปีที่ผ่านมาราคาหุ้นไม่ถูก มีการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค บางคนกังวลหุ้นจะไม่โต ก็ต้องมารอดูงบเขา ถ้า 3 ไตรมาส งบไม่แย่ก็ต้องมีการกลับเข้ามาซื้อ อย่างหุ้นธนาคารก็มองว่าถึงอย่างไรก็ต้องมีการพัฒนาเพื่อความอยู่รอด  เพราะสินทรัพย์เขาก็ยังมีอยู่มากมาย”

2020 ห่วงปัจจัยต่างประเทศมากกว่าในประเทศ

เสี่ยป๋อง บอกว่า เวลาเล่นหุ้นจะแยกเรื่องความรู้สึก ไม่ได้ลงเรื่องเรื่องธุรกิจอะไรมาก เพราะจะดูจังหวะเทคนิคเป็นหลัก แต่ตอนนี้หากถามคนรู้จักที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะมองว่าการค้าต่างจังหวัดหนักจริง เพราะโลกเปลี่ยน วิธีการจับจ่ายใช้สอยก็เปลี่ยน การทำธุรกิจทุกอย่าง ตั้งแต่ธุรกิจยุคเบเบี้บูมเมอร์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง ทยอยล้มหายตายจาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย แล้วเศรษฐกิจไทยจะเฟื่องฟูได้อย่างไร เพราะรายได้ต่ำ แต่คนรวยก็ยังรวยอยู่ คนกรุงเทพก็ยังจับจ่ายใช้สอยได้

ทั้งนี้ ห่วงช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะห่างไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วมีเงินกลับมาหมุนเวียน รัฐก็พยายามกระตุ้น รู้ว่าปัญหานี้หนักจริง แต่แก้ยากเพราะต้องใช้เวลาพอสมควร ต้องทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ อย่างตอนที่ราคาข้าวไทยปีนั้นที่ราคาสูงไม่เกี่ยวว่าเป็นยุครัฐบาลไหน แต่เป็นเพราะน้ำท่วมหลายประเทศที่ผลิตข้าว แต่ไทยไม่ท่วม ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ ซึ่งปีนี้คาดว่าจีดีพีเราแย่ เพราะส่งออกเราตกหนัก เงินบาทก็แข็ง แต่ก็ไม่ได้ซื้อหุ้นไปเข้าตราสารหนี้

“มองว่าปีหน้าไม่ได้กลัวเรื่องเศรษฐกิจไทย โดยรวมส่วนใหญ่ไม่ได้แย่ แต่กลัวปัจจัยที่มาจากต่างประเทศมากกว่า เพราะเวลามีวิกฤตเขาก็ถอนเงินออก อย่างปี 2008 เลห์แมนบราเธอร์เจ๊งก็ถอนเงินจากไทย เอไอเอขายสินทรัพย์ทั่วโลกรวมถึงไทย และทำให้หุ้นตก ขณะที่ตอนนี้หุ้นไทยไม่มีเสน่ห์พราะไม่มี Growth เพราะธุรกิจกำลังทรานฟอร์ม ทำให้เกิดการวนเล่นหุ้นเป็นกลุ่ม (Lotation) หรือเราอาจวิกฤตกันเกินไปเพราะปีนี้จีดีพีฐานต่ำ และปีหน้าจีดีพีน่าจะโตกว่านี้ แต่ถ้าปีหน้าเศรษฐกิจไม่โตแสดงว่าแปลก”

2020 หุ้นที่ห่วงสุด

เสี่ยป๋อง มองว่า อสังหาฯ อยู่ในพื้นที่ยังไม่ปลอดภัย ธนาคารก็ยังแปลกๆ ปิโตรเคมีแม้มีการรีบาวด์ แต่เท่าที่คุยไตรมาส 4 ไม่ดี และอาจลามไปถึงปีหน้า อาจรอจุดซื้อได้ โดยรวมยังมองว่าอสังหาฯ ยังตึงๆ อยู่ แต่ที่ยอดขายเพิ่มได้เพราะคนรวยเป็นคนซื้อ 1-2 % หากเทียบคนในประเทศที่มี 60-70  ล้านคน ซื้อเพียง 2 % ซื้อก็ถือว่าหลายแสนคนเมื่อเทียบกับยูนิตคอนโดมิเนียมพอกัน แสดงว่าคนรวยซื้อเก็บไว้ และจากตัวเลขปีที่แล้วค่าใช้ไฟคอนโด ปิดการโอนยูนิตที่มากขึ้นแต่ค่าไฟกลับไม่เพิ่ม แสดงว่ามีการซื้อเก็งกำไรกันแต่ไม่ได้ไปอยู่จริง หรือเพราะแบงก์กังวลมากจากมาตรการของแบงก์ชาติ เลยปล่อยยาก ทำให้ยอดขายตก

“มีหุ้นอสังหาฯ มีบ้างแต่เล่นตามกราฟ และเปลี่ยนไปมา บอกได้เลยผ่านมา 2 ปี ผมขาดทุนหุ้นอสังหาฯตัวหนึ่งกว่า 20 % แต่ไม่ได้ขาย เพราะขายออกไม่ได้ ซึ่งถ้ามีวินัยตอนที่กราฟบอกก็จะไม่ขาดทุนแบบนี้ ถ้าเล่นน้อยก็คงไม่เจอภาวะแบบนี้ แต่พอมีเยอะแล้วไม่มีวินัยก็ขายออกไม่ทัน”

ขณะที่มองว่าธุรกิจสื่อน่าจะผ่อนคลาย หลังจากมีการคืนช่องทีวีดิจิตอลไป ตอนนี้อาจจะมองว่าดีขึ้นแล้ว ที่เหลืออยู่น่าจะรอด แต่จะไปแค่ไหนจต้องติดตาม ซึ่งตอนนี้กำลังดู งบไตรมาส 3 ที่เพิ่งออก เริ่มมีกำไรแต่ต้องไปดูว่ามีกำไรมาจากอะไร และอนาคตอาจเห็นเมืองไทยมีสื่อนอกบ้านและสื่อออนไลน์เหมือนทางยุโรปและสหรัฐบ้าง สื่อพวกนี้น่าจะอยู่ได้ เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน และมีการทรานฟอร์มแบบที่เราไม่รู้ตัว

2020 หุ้นที่น่าลงทุน

ไม่พ้นหุ้นที่เกี่ยวกับเมกะเทรนด์ เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า หรือพลังงานทดแทน ซึ่งของไทยมีให้เลือกไม่กี่ตัว ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) กำไรต่อหน่วยเมกะวัตต์ละ 1.5 ล้านบาท หุ้นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)เมกกะวัตต์ละประมาณ 2.5-3 ล้านบาทต่อหน่วย เขามีจำนวนกี่เมกฯ เอาจำนวนหุ้นไปคูณเอา แล้วก็คิดเป็น P/E เพราะถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่มี Fully Capacity อย่างในอดีตหุ้น Defensive นี้ต้องมี P/E ไม่เกิน 15-20 เท่า แต่ตอนนี้ต้องเลิกคิดอย่างนี้ไปแล้ว เพราะราคาไม่ลงมาหาเราเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะทุกคนรู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนี้ต้องติดตามข่าวและโครงการอนาคต

รวมถึง กลุ่มเฮลท์แคร์ เพราะคนจะอายุยืนขึ้น แต่รพ. เราพีอีสูง อีกทั้งระยะยาวคือ กลุ่มโลจิสติก แต่ก็ต้องเลือกเป็นรายตัวไป เพราะโลกของอนาคต พฤติกรรมคนเปลี่ยนจากอดีตเยอะและจะมีการใช้การขนส่ง การใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น

แนะนักลงทุนติดเรดาร์ข้ามผ่านวิกฤตทุกยุค

ทั้งนี้ เซียนหุ้นพันล้าน บอกว่า ส่วนตัวยังเชื่อเทคนิคคอลที่ยังพาพวกเรารอดได้ เพราะกราฟคือเครื่องบันทึกพฤติกรรมนักลงทุนทุกกลุ่ม ทั้งรายย่อย รายใหญ่ และกองทุน กราฟไม่มีใครหลอกเราได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามค้นพบตัวเองให้ได้ ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทไหน วีไอหรือเทคนิคอล ถ้าแนะนำควรเป็นทั้งสองอย่างจึงจะอยู่รอดได้ ถ้าเราเป็นวีไอก็หาเพื่อนที่เป็นเทคนิคมาช่วยเสริม

“ส่วนตัวไม่มีเคล็ดลับอะไรเพราะหลายปีที่ผ่านมาอ่านข่าว ดูงบทุกเช้า เพราะนั่น คือสิ่งที่ค้นพบแล้ว และที่อยากแนะนำคือการค้นพบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเป็นแบบไหน และก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้ได้ และอย่าไปคาดหวังมาก ผมเองก็เคยพลาดเพราะอาจคาดหวังมาก ก็มีควารู้สึกว่ากดดัน และที่สำคัญ ถ้าเราเจอสิ่งที่จะทำให้ชนะได้แล้ว ก็ต้องมีวินัย ถ้ามีทั้งสองอย่างนี้มันควบคู่กันได้ก็จะอยู่รอดได้ กราฟไม่เคยหลอกใคร มีแต่เราหลอกใจตัวเอง ถ้าตัดได้ทุกอย่างก็จะมีกำไร มีวินัย และการลงทุนก็ไม่ใช่ว่าจะชนะตลอด ต้องมีพลาดบ้าง”

ลิงก์สัมภาษณ์เสี่ยป๋องในงาน StockRadars Day 2019