HomeUncategorizedเมื่อ Alibaba ตั้งฐานที่มั่นEEC คนไทยควรทำอย่างไร?

เมื่อ Alibaba ตั้งฐานที่มั่นEEC คนไทยควรทำอย่างไร?

หลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ของกรมศุลกากรที่ 204/2562 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คำถามต่อมาคือใครที่จะได้ประโยชน์ โอกาส ความได้เปรียบเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน แล้วสรุปคนไทยต้องมีการปรับตัวอย่างไร

เพราะด้านหนึ่งมีการมองว่า อาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนใน EEC ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มอาลีบาบา โดยในรายละเอียดของประเด็นดังกล่าวคือ การที่สินค้าออกจากเขตปลอดอากรและมีการส่งขายถึงมือผู้ซื้อในประเทศแล้ว และถ้าผู้ซื้อปฏิเสธการรับสินค้านั้น โดยอีคอมเมิร์ซสามารถแจ้งยกเลิกได้ หากนำสินค้าที่สั่งกลับคืนมาในพื้นที่เขตปลอดอากรภายใน 14 วัน ซึ่งจากเดิมกำหนดเพียง 1 วันเท่านั้น

อี-คอมเมิร์ซไทยมองเมื่อ Alibaba มาไทย

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.TARAD.com อธิบายถึงที่มาของกฎหมายนี้คือ การที่รัฐบาลต้องการหาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยขึ้นมา ดังนั้นต้องมีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ต้องมาจากการลงทุนต่างประเทศ ทำให้เกิดการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาคือ EEC  และมีการชวนยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุน และสร้างอีคอมเมิร์ซพาร์กของ Alibaba จึงต้องมีการจัดโปรโมชั่นขึ้นมาเพื่อให้สิทธิ์กับบางกลุ่มธุรกิจที่จะมาลงทุน

ทั้งนี้ ปกติเวลานำเข้าสินค้ามาต้องมีการเสียภาษีศุลกากรตามแต่ละประเภท แต่กฎหมายฉบับพิเศษนี้ คือ การมีพื้นที่ฟรีเทรดโซน หรือพื้นที่คลังสินค้าที่สามารถเอาสินค้ามาวางไว้ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV โดยเป็นพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีการเสียภาษี แต่ถ้าสินค้ามีการออกจาก EEC แล้ว และหากมีการคืนสินค้าภายใน 14 วัน กลับไปยังฟรีเทรดโซนนี้ ก็ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรดังกล่าว ซึ่งเดิมกำหนดไว้เพียงแค่ 1 วัน ซึ่งอันนี้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีคลังสินค้าใน EEC เพราะสามารถสั่งของเป็นตู้คอนเทนเนอร์มาพักที่ EEC ไว้ก่อน ก่อนที่จะกระจายสินค้าไปตามที่ต่างๆ

“ปกติมีกฎหมายกำหนดชัดเจนอยู่แล้วว่า หากสินค้าที่ถูกส่งทางไปรษณีย์ ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนและราคาต่ำกว่า 1,500 บาท เมื่อส่งผ่านมาประเทศไทยไม่เสียศุลกากรขาเข้า แต่การที่จีนมีแหล่งพักสินค้าขนาดใหญ่ และหากเขามีการสั่งเข้ามาล็อตใหญ่แล้วพักสินค้านี้ได้ก่อนที่จะกระจายไปยังที่อื่นๆ ซึ่งถ้ากระจายต่ำกว่าราคา 1,500 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร อันนี้ทาง Alibaba ก็จะได้เปรียบ แต่อีกด้านหนึ่งอยากให้ดูว่า ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการคืนสินค้าเฉลี่ยอยู่เพียง 5% เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ได้มีผลในความได้เปรียบมากจากกรณีนี้”

อย่างไรก็ดี ตัวแปรหลัก คือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะได้รับผลกระทบเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ผู้ผลิตมาตั้งหรือพักสินค้าไว้ที่ฟรีเทรดโซนที่ EEC เหมือนที่ Alibaba ทำได้ และสิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ ผู้ค้าไทยเองก็ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ ว่าจะตั้งรับกับสินค้าจีนที่กำลังเข้าไทยอย่างมหาศาลได้อย่างไร ดังนั้น อะไรในที่อีคอมเมิร์ซของต่างประเทศมี ไม่ว่าจะเป็น Lazada Shopee เราต้องไม่ไปขายแข่ง”

สิ่งที่น่ากังวล

ที่มา : TARAD.com

“ภาวุธ” มองว่า ด้านหนึ่งคือผู้บริโภคอาจจะได้สินค้าที่ราคาถูกลง และ Lazada กลายเป็นการทะลุทุกอย่าง เพราะเป็นช่องทางที่ดีที่เข้าถึงคนทั้งอาเซียน

และจากข้อมูลที่มีการสถิติไว้ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2562 พบว่า ปัจจุบัน Lazada มีการเก็บสินค้าไว้ 42 ล้านชิ้น จากทั้งหมด 32 หมวด โดยพบว่า พบว่าเป็นสินค้าไทย 54.1 % หรือประมาณ 22 ล้านชิ้น อีกประมาณ 45.9 % เป็นสินค้าที่มาจากจีน ซึ่งถือว่าเยอะมาก ที่ปกติเมื่อซื้อสินค้า Lazada ต้องรอ 1-2 สัปดาห์ เพราะสินค้ามาจากจีน แต่เมื่อฟรีเทรดโซนเปิด ก็จะทำให้สินค้าจีนสามารถพักไว้แล้วค่อยกระจายจัดส่ง

หากลองมาดูในรายละเอียด จาก 42  ล้านชิ้น ตามหมวดสินค้าจะพบว่า สินค้าจีนที่มีสัดส่วนมากกว่า 50 % ได้แก่ โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์และแล้บท็อป กล้องถ่ายภาพและโดรน สมาร์ทดีไวซ์  สินค้าเด็กอ่อนและหัดเดิน ของเล่นและเกม  เสื้อผ้าและรองเท้าผู้หญิง รองเท้าและเสื้อผ้าผู้ชาย อุปกรณ์กีฬาและกิจกรรมทางแจ้ง กระเป๋าและกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น

ขณะที่สินค้าไทยมีเพียงหมวดเดียวที่ไทยผลิตมากกว่าจีนคือ สินค้าอุปโภคบริโภคและอาหาร เนื่องจากต้องมีการผ่านการตรวจคุณภาพอาหารและยา จากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะต้องการ อย.และอาหาร

ผลกระทบ

“ภาวุธ” มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากนี้คือ ด้านหนึ่งคือผู้บริโภคอาจจะได้สินค้าที่ราคาถูกลง แต่สิ่งที่จะหายไปคือ เทรดเดอร์ที่เคยนำสินค้าจีนเข้ามาขาย และสินค้าที่จะได้รับผลกระทบแรก คือ กลุ่ม Gadjet หรือที่ผลิตจากจีน เพราะราคา Lazada จะมีราคาที่ถูกกว่าเพราะสินค้ามาจากโรงงานโดยตรง อีกทั้งด้านหนี่งที่เริ่มเห็นแล้วคือ การเข้ามาผลิตของจีนในไทย หรือการมีสินค้าจีนที่มาปลอมเป็นสินค้าไทย เนื่องจากคนจีนชื่นชอบในสินค้าไทยมาก โดยเฉพาะประเภทสินค้าเครื่องสำอางค์ เช่น พวกมาร์กหน้า

ที่มา : TARAD.com

“เมื่อจีนมีช่องทางการส่งสินค้าโดยตรง และการนำสินค้าผ่านออนไลน์สามารถดั้มพ์สินค้าเข้ามาเป็นล้านๆ ชิ้น และถึงมือคนไทยได้เพียงไม่กี่วัน ส่วนตัวมีตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้คนไทยจะสั่งซื้อสินค้าผ่าน Lazada มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ปี 2563 คาดว่าอยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 30 % และคาดว่าภายใน 5 ปี คนไทยจะซื้อสินค้าจีนผ่าน Lazada ถึง 50,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ความแตกต่างการออกกฎหมายเพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาไทย เมื่อก่อนที่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาผลิตรถยนต์แล้วไทยสามารถส่งออกได้ ก็จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในประเทศไทย ซึ่งผิดกับการออกกฎหมายการลงทุนตอนนี้ ที่อาจจะไม่ได้มาช่วยเศรษฐกิจไทยเติบโตเหมือนเมื่อก่อน แต่จะทำให้เศรษฐกิจจีนเขาจะเติบโตขึ้น

“ไผท ผดุงถิ่น” CEO ของ BUILK ONE GROUP อีคอมเมิร์ซด้านก่อสร้าง มองว่า ต้องยอมรับว่าตอนนี้สินค้าวัสดุก่อสร้างของจีนมีคุณภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันวงการอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มหันไปมองสินค้าจีนมากขึ้น ซึ่งเมื่อฟรีเทรดโซนเกิดที่ EEC ก็น่าจะเห็นการสั่งสินค้าประเภทตกแต่ง สุขภัณฑ์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่ต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาก ขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสของผู้รับเหมาหรือผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถหาสินค้าที่มีราคาถูกได้ ทั้งนี้ มองว่า ผู้ผลิต เทรดเดอร์ หรือห้างร้านค้าปัจจุบัน ก็ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยเฉพาะฝั่ง B2C ที่สามารถสั่งของได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อนต้องรอเวลากว่าสินค้าจะมาถึง

“วุฒินันท์ สังข์อ่อง” CEO และ Founder ของ CloudCommerce ที่เน้นในการส่งออกสินค้าไทย โดยมองผลกระทบกลุ่มหลักๆ ที่จะกระทบมากคือ อีคอมเมิร์ซในประเทศ เทรดเดอร์ และ SME ที่ผลิตของหรือสินค้าเหมือนกับที่คนจีนผลิต เพราะแม้ปัจจุบันค่าแรงที่จีนไม่ได้ถูก แต่จีนเขาสามารถผลิตในสเกลที่ใหญ่กว่าไทยมาก

คนไทยควรปรับตัวอย่างไร

เมื่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หลายอย่าง แต่ผู้ประกอบการต่างประเทศสามารถข้ามกฎเกณฑ์ทุกอย่างมาได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีต้นทุนที่ต่างกัน และสิ่งที่อีคอมเมิร์ซไทยมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันคือ คนไทยต้องปรับตัว เพราะอีก 5 ปีข้างหน้าคนไทยจะซื้อของออนไลน์มากขึ้น โดยประมาณ 30-40 % จะเป็นสินค้าต่างประเทศหมดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์ก่อน

ที่มา : TARAD.com

ขณะเดียวกัน มองว่า แม้ว่าตอนนี้ยังมีการค้าขายบนโลกโซเชียลมีเดียบน Facebook แต่ในอนาคตการ Live บน Facebook จะถูกตลาดอีคอมเมิร์ซต่างชาติกินพื้นที่ไปมาก เพราะตอนนี้ Lazada กำลังลงทุนโคร้างพื้นฐานเรื่องพวกนี้หนักมาก ซึ่งในอนาคตอีคอมเมิร์ซมันจะชนะกันด้วย การขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ การบริการลูกค้า และข้อมูลต่างๆ

“ภาวุธ” ให้วิธีแนะนำผู้ประกอบการไทย 6 ขั้นตอนนี้คือ 1.สร้างแบรนด์ของตัวเอง 2.เพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยี เอาซอฟท์แวร์เข้ามาใช้ ซึ่งทำให้การใช้คนจำนวนเท่าเดิม แต่เมื่อนำสิ่งนี้มาใช้แล้วจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพและรายได้เพิ่มขึ้น 3. เพิ่มช่องทางการขายของที่ไม่อยู่แต่ยี่ป๊วซาปั๊วหรือจาก Offline มาสู่โลก Online มากขึ้น  4. ต้องไปขายสินค้าต่างประเทศโดยเฉพาะไปกลุ่ม CLMV ซึ่งเชื่อว่ายังมีสินค้าไทยหลายหมวดที่พร้อมจะไป 5. ต้องตั้งทีม Online ขึ้นมาโดยเฉพาะและต้องทำให้เกิดด้วย และ 6. ตัวผู้บริหารหรือเข้าเองก็ต้องเข้าใจ Online ด้วยเหมือนกัน

เชิงบวกที่ประเทศไทยได้

“ไผท” มองในมุมบวกที่ประเทศไทยจะได้คือ มีเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาทเข้ามาที่ไทย ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น อีกทั้งการส่งถ่ายเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามากขึ้น และภาพกว้างคือ ทำให้กระตุ้นภาคอีคอมเมิร์ซไทยมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไทยโอกาสที่จะเกิดก็ยากขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีมุมมองหนึ่งที่อีคอมเมิร์ซไทยเห็นในทิศทางเดียวกันต่อประเด็นนี้คือ การที่ภาครัฐมีนโยบายขึ้นมาก็เป็นการเดินที่ถูกต้องแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด มุมหนึ่งถ้าไทยไม่ทำก็อาจทำให้เสียโอกาส แต่ความจริงรัฐควรจะเปิดโอกาสในนโยบายเรื่องนี้แบบมีข้อจำกัดมากกว่านี้

“ภาวุธ” ยกตัวอย่างหนึ่งในอาเซียนที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซียที่แม้เขาเน้นให้เกิดการลงทุน แต่ก็มีการกีดกันและป้องกันให้กับธุรกิจท้องถิ่นบางอย่างที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะธุรกิจดิจิทัลอย่างฟินเทค  ขณะที่ประเทศมาเลเซียกำลังกระตุ้นให้ธุรกิจท้องถิ่นขยายไปต่างประเทศมากขึ้นภายในอีก 5 ปีมากขึ้น แบบ Cross Border

ที่มา : TARAD.com

นักเศรษฐศาสตร์มองไทยต้องหาโอกาสให้เจอ

“ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขอให้มุมมองภาพกว้างมากกว่าเป็นรายกรณีว่า ด้านหนึ่งอยากให้มองภาพกว้างว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน เดิมทีเราจะคุ้นเคยตลาดคือ “พื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า” แต่ตอนนี้ภาพที่เราคุ้นชินกำลังจะเปลี่ยนไปเพราะมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดโอกาสและความท้าทายใหม่ขึ้นมา โดยหลักมี 2 อย่างคือ 1.จากตลาดที่เราคุ้นชินคือ Offline มันกำลังจะเปลี่ยนเป็น Online มากขึ้น 2.เมื่อเป็น Online ซึ่งตอนนี้มีการแข่งขันที่สูงมาก เพราะต้นทุนการเข้าถึงไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน

ภาพที่กำลังเปลี่ยนไปคือ เมื่อแพลตฟอร์มระดับประเทศ ระดับโลกอย่าง Shopee และ Alibaba ได้เข้ามาสร้างหรือทำให้เกิด “พื้นที่ตลาดใหม่” และยังเป็นตลาดที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้เข้าถึงกันง่ายกว่าเดิม โดยที่เจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตเจ้าของสินค้าเอง ขณะที่ผู้ซื้อมีอยู่เป็นจำนวนมาก และสภาพตลาดก็ไม่ได้มีการเข้าถึงยากเหมือน Offline เหมือนเดิม

ทั้งนี้ โดยรวมจะเกิดประโยชน์ได้จาก 3 ส่วน คือ 1.ผู้บริโภคจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด 2.ทำให้เกิดตลาดที่ดี เพราะจะไม่ได้ผ่านกระบวนการของพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งยังเป็นไปตาม 3. กลไกราคาที่เกิดจากระบบนั้นได้จริงๆ เพียงแต่สิ่งที่จะต้องติดตามดูคือ กลไกของการแมชชิ่งหรือการที่จะทำให้มีการคัดเลือกสินค้าถูกขึ้นมานำเสนอบนระบบแพลตฟอร์มด้วยโอกาสที่เท่าเทียมกัน และทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่

“ส่วนตัวเชื่อว่านโยบายที่ออกมา ความตั้งใจก็ต้องให้คนไทยได้ประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำสินค้าไปขึ้นแพลตฟอร์มดังกล่าว และทำให้คนทั่วโลกเห็นสินค้าไทยได้ แต่ในขณะเดียวกันด้านหนึ่งผู้ซื้อและผู้ขายจะสามารถฉวยโอกาสต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างไร หรือในส่วนกฎหมายนี้ ถ้าจะให้เกิดความสามารถในการแข่งขันได้ดี ก็อาจจะมีการระบุข้อยกเว้นสำหรับคนไทยในกรณีไหนบ้าง”ดร.สมประวิณกล่าว

นักวิเคราะห์มองเป็นบวกรายหุ้น

บทวิเคราะห์จาก บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ฟรีเทรดโซนเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(E-Commerce) ภายในเขตพื้นที่ EEC 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน อำนวยความสะดวก และดึงดูดต่อภาคธุรกิจโลจิสติก์และคลังสินค้า

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น การซื้อขายสินค้า-บริการ การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ในไทย ปี 2561 เพิ่มขึ้น 14% อยู่ที่ 3.15 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากแบ่งตามประเภทสินค้า คือ ธุรกิจห้างสรรพสินค้าสัดส่วนมากที่สุดราว 11.3% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในไทย ปี 2561 รองลงมาคือ กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มราว 6.4% ตามมาด้วยกลุ่มเครื่องสำอางค์ ราว 4.8% เป็นต้น

หากพิจารณาผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดหลักๆ จะเป็นธุรกิจจาต่างประเทศ อาทิ Shoppee, LAZADA, AMAZON เป็นต้น ในประเทศ อาทิ Central online, ROBINS online เป็นต้น

ทั้งนี้ เอเซียพลัส ให้คำแนะนำทิศทางเดียวกัน “ประกิต สิริวัฒนะเกตุ” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ คือ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) โดยความคาดหวังตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะมาจากการลงทุน และการที่ JWD เป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ครบวงจร น่าจะได้ประโยชน์ในการส่งขนส่ง อีกทั้งมีการปรับกลยุทธ์การจัดเก็บสินค้าเพื่อเสริมสร้าง Value Added รวมถึงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการร่วมลงทุน

“อยากให้มองอีกด้านคือ ในโลกนี้อีคอมเมิร์ซล้วนเป็นของรายใหญ่ไม่อันดับ 1 หรือ 2 และก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่คนไทยต้องทำโดยเฉพาะผู้ประกอบการคือ จะปรับหรือทำตัวอย่างไรที่ทำให้สินค้าไทยอย่างเราขึ้นไปอยู่บนชั้นวางระดับโลกนี้ให้ได้” ประกิต กล่าว