เมื่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระงับสิทธิภาษีศุลกากร (GSP) กับไทย มูลค่าการค้า 40,000 ล้านบาท หรือ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลักๆ คือ สินค้าอาหารทะเล ฯลฯ และจะมีผลใน 6 เดือนข้างหน้าระหว่าง พ.ย.2562-เม.ย.2563 โดยอ้างเหตุผลปัญหาแรงงานไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ช่วงเดือน พ.ค.2562 สหรัฐตัดสิทธิ GSP กับตุรกี และ 5 มิ.ย. 2562 สหรัฐก็ตัดสิทธิกับอินเดีย
บล.เอเซียพลัส มองหุ้นที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิจัย ของ บล.เอเซีย พลัส ได้ออกบทวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันไทยส่งออกไปสหรัฐ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ประมาณ 12 % ของตลาดส่งออกไปทั่วโลก รองลงมาคือ จีน
ไทยใช้สิทธิ GSP ในปี 2561 ส่งออกสินค้าไปสหรัฐวงเงิน 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7% ของยอดส่งออกไปทั่วโลก และมีสินค้าที่ใช้สิทธิราว 1,200 สินค้า
สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ เกือบ 60% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดหลักๆคือ คอมพิวเตอร์, ผลิตภัณฑ์ยาง, อัญมณี, อาหารทะเล, รถยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล, เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนได้รับสิทธิ GSP กล่าวคือ เดิมไม่เสียภาษี (ตาม GSP) หากไทยถูกตัดสิทธิต้องกลับมาจ่ายภาษีในอัตราทั่วไป
ฝ่ายวิจัย ASP มองว่า ความเสี่ยงดังกล่าว ประกอบกับทิศทางเงินบาทที่ยังแข็งค่า เป็นการตอกย้ำว่าหุ้นกลุ่มสินค้าส่งออก กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ กลุ่มส่งออกอาหาร ต้องหลีกเลี่ยง ทำให้เชื่อว่ารัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง 0.25% อยู่ที่ 1.25% ในช่วงปลายปี
ในเบื้องต้น หุ้นกลุ่มส่งออกที่ได้รับผลกระทบได้แก่ กลุ่มเกษตร-อาหาร (TU CPF และ STA)
TU: ในเบื้องต้นคาดมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกอาหารทะเลไปสหรัฐฯ ราว 17% ของรายได้รวม แบ่งเป็น ทูน่าราว 12% ของรายได้รวม และกุ้งราว 5% ของรายได้รวม คาดการส่งออกทูน่าจากไทยจะได้รับผลกระทบบ้าง
ส่วนธุรกิจกุ้ง TU มีบริษัทที่ทำการซื้อมา ขายไป (Trading) ในสหรัฐฯ ซึ่งปกติจะซื้อ (นำเข้า) กุ้งจากหลายประเทศอยู่แล้ว (อินเดีย เวียดนาม ไทย เอกวาดอร์ เป็นต้น) ทำให้ธุรกิจกุ้งน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากครับ เพราะสามารถหาซื้อกุ้งจากประเทศอื่นแทนได้โดยฝ่ายวิจัยจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทาง TU ในวันจันทร์นี้
CPF: คาดมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ เพียง 0.3% ของรายได้รวม จึงคาดจะได้รับผลกระทบจำกัด
STA: มีสัดส่วนรายได้ส่งออกยางพาราไปสหรัฐฯ ราว 5% ของรายได้รวม โดยฝ่ายวิจัยจะสอบถามข้อมูลกับทาง STA เพิ่มเติมในวันจันทร์ครับ ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต (40% ของผลผลิตยางพาราโลก) และส่งออกยางรายใหญ่สุดของโลก ทำให้ฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะกระทบคำสั่งซื้อยางพาราจากไทยไม่มาก
กลุ่มชิ้นส่วนฯ: ในเบื้องต้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยคาดว่าผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯของไทย (DELTA HANA KCE และ SVI) มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯโดยตรงราว 10-30% ของรายได้รวม
โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยจะส่งออกชิ้นส่วนฯ ไปประเทศอื่นก่อน เพื่อประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป แล้วจึงส่งไปสหรัฐฯ
TU ยันสินค้าที่ส่งไม่ได้อยู่ภายใต้ GSP
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (TU) กล่าวว่า การที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศเพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐฯ หลายรายการ ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าอาหารทะเลจากไทยบางรายการด้วย ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้ภาษีนำเข้าของสินค้าบางรายการที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยจะเริ่มบังคับใช้ใน 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากสินค้าอาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ที่ไทยยูเนี่ยนจำหน่ายในประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้ GSP ดังนั้นมาตรการที่ประกาศในครั้งนี้ จึงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน
You must be logged in to post a comment.