สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ออกประกาศว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ มีคำสั่งระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าของไทยมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 40,000 ล้านบาท โดยระบุว่าไทยยังล้มเหลวในการจัดการปัญหาการกดขี่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล ขณะที่การตัด GSP จะมีผลบังคับในวันที่ 25 เม.ย. 2563
โดยสินค้าที่จะถูกสหรัฐตัด GSP มีจำนวนเกือบ 600 รายการ ครอบคลุมทั้งอาหารทะเล ผักผลไม้ ไปจนถึงเครื่องครัวและไม้แปรรูป
ล่าสุดนั้น นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เตรียมแถลงข่าวกรณีสหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทย ในวันจันทร์ที่ 28 ต.ค.นี้ ที่กรมการค้าต่างประเทศ
การระงับ GSP ให้ไทยของสหรัฐ เกิดขึ้นหลังไทยแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิดที่ใช้ในภาคการเกษตร โดยเฉพาะสารไกลโฟเซต โดยทางการสหรัฐได้ส่งหนังสือให้ไทยทบทวนการแบนดังกล่าว ซึ่งทางรัฐบาลไทยเตรียมใช้เวทีการประชุมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการประชุมอาเซียนซัมมิทในไทย ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 นี้ เพื่อเจรจาแก้ปัญหาต่อไป
GSP คืออะไร
สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เป็นมาตรการหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือกับประเทศกำลังพัฒนาในด้านการส่งออก ด้วยการลดหย่อนภาษีกับสินค้านำเข้าบางรายการจากประเทศที่ได้สิทธิ GSP
สหรัฐเริ่มการให้สิทธิ GSP ตั้งแต่ปี 2519 โดยให้แก่ประเทศทั้งหมด 131 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา 87 ประเทศ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับสิทธิ และประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจำนวน 44 ประเทศ
ส่วนเงื่อนไขการได้รับสิทธิ GSP มีอยู่ 6 ข้อ
- ระดับการพัฒนาประเทศ
สหรัฐสามารถถอนให้สิทธิ GSP กับประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง (high income) ซึ่งจะพิจารณาจากรายได้ประชาชาติต่อหัว โดยใช้ฐานข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) โดยเมื่อปี 2552 ธนาคารโลกกำหนดว่าประเทศรายได้สูงมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่า 11,456 ดอลลาร์สหรัฐ
- การเปิดตลาดสินค้าและบริการ
ประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ควรสร้างความมั่นใจให้สหรัฐว่าจะเปิดตลาดให้กับสินค้าและบริการของสหรัฐอย่างสมเหตุสมผล
- การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ต้องมีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร เครื่องหมายทางการค้า และลิขสิทธิ์ของสหรัฐอย่างเพียงพอและต้องมีการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ
- การคุ้มครองสิทธิแรงงาน
ประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานภายในประเทศของตนในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ได้แก่ มีสิทธิการจัดตั้งสมาคม มีสิทธิต่อรอง มีเสรีภาพในการทำงานโดยสมัครใจ มีการกำหนดอายุแรงงานขั้นต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้แรงงานเด็ก และมีปัจจัยแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม
- กำหนดนโยบายการลงทุนที่ชัดเจน และลดข้อจำกัดทางการค้าของประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP
- การให้การสนับสนุนสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้าย
สำหรับไทยนั้น กรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า การให้สิทธิ GSP ของสหรัฐต่อไทย มีด้วยกัน 3 โครงการ ปัจจุบันอยู่ในโครงการที่ 3 ต่ออายุครั้งที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563
โดย USTR ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐภายใต้ GSP อยู่ที่ทั้งหมด 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.32 แสนล้านบาท
ด้านบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดอันดับ 2 ของไทย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 9.62 แสนล้านบาท