HomeUncategorizedการทำธุรกิจในอนาคตจะเริ่มยากมากขึ้น

การทำธุรกิจในอนาคตจะเริ่มยากมากขึ้น

“รวิศ หาญอุตสาหะ” ซีอีโอ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด และเจ้าของเพจ Mission to the Moon ที่พร้อมส่งต่อเรื่องราว เกี่ยวกับธุรกิจ การตลาด เทคโนโลยี แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิตต่างๆ มาร่วมกันมองอนาคตในยุคการเปลี่ยนแปลงว่า เราควรเตรียมกันอย่างไรในยุคปัจจุบันแบบฉบับย่อ เนื่องจาก StockRadars และ StcokRadar.News ร่วมเป็น มีเดีย พาร์ทเนอร์ กับ Future Maker ซึ่งได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาถึงการเปลี่ยนแปลงอนาคตทาง Live Facebook กับคุณรวิศ จึงขอนำมาเสนอเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องเบื้องต้น

ก่อนที่เราจะไปเจอฉบับจริงกันที่งาน Future Maker Night ในวันที่ 9 พ.ย.2562 นี้ ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า เพราะคุณรวิศเป็นหนึ่งใน Speaker ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนและช่วยกันมองอนาคตว่า เราทุกคนควรตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในโลกยุคปัจจุบัน  

5 ปี ที่ผ่านมา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดด

‘รวิศ’ มองว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาก สืบจาก iPhone เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007-2008 และหลังจากนั้นชีวิตเราต่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ตอนแรกพวกเราอาจจะงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เนื่องจากมีการปรับใช้สิ่งที่เกิดขึ้น และทำให้การใช้งานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงนี้ กำลังจะพาเราเข้าไปสู่เลเวลต่อไป

ทั้งนี้ หลายครั้งเราอาจจะมองว่า เรื่องที่เราต่างเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่ามันจะต้องมีการเปลี่ยนและมาแน่ สุดท้ายมันก็มาและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าหากลองทำเป็นกราฟตอนแรกจะเห็นเป็นเส้นแบนๆ แต่ตอนนี้เหมือนว่ากราฟการเปลี่ยนแปลงนี้ จะเริ่มหักหัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งสำหรับเขามองว่ามันน่าตื่นเต้นมาก

เขาเล่าต่อว่า วันก่อนเจอผู้บริหารในทีมบริษัท ยังบอกว่า อนาคตอีกหน่อยเราจะสามารถบันทึกอะไรจากการเพียงอ่านเอกสาร หรือจากวิดีโอได้หมด เพราะจะมีตัวที่สามารถคีย์เข้าไปแทนเราได้เลย  ซึ่งปกติสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนทำงานอย่างนี้เยอะมาก และต่อไปปัญหานี้จะหมดไป เหมือนเป็น This is automation in action และพอเราได้เห็นว่า สิ่งที่ว่านี้มันสามารถเกิดขึ้นและสามารถใช้ได้อยู่จริงตอนนี้ จึงทำให้เข้าใจในคำว่า “งานที่เราเคยมีในอดีตมันกำลังจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” จริงๆ

เทคโนโลยีดีอย่างเดียวไม่ได้ต้องรอเวลาที่เหมาะสม

ที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยีใช่ว่ามันจะดีอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีจังหวะเวลาของมันที่เหมาะสมด้วย ตั้งแต่ความพร้อมของคน องค์กรอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเรกูเรเตอร์ หรือผู้ดูกฎระเบียบต่างๆ ทำให้ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ตอนเริ่มใช้ความจริงน่าจะเวิร์ก แต่หลายอันก็มีแป๊กไปบ้าง ซึ่งถ้านำกลับมาใช้ใหม่อีกครัังก็น่าจะมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นและอยู่ในระยะยาวต่อไป

“มีหลายเรื่องที่เทคโนโลยีต้องมาพร้อมในจังหวะเดียวกัน เหมือนเป็นวงกลมที่มีต้องมาบรรจบกันพอดี มันถึงจะเกิดได้ ซึ่งของบางอย่างก็เกิดขึ้นมาแบบงงว่าทำไมถึงมาได้ เช่น ตอนเกิดโปเกม่อน คนสมัครภายใน 19 วัน แต่มี User สูงถึง 50 ล้านคน ซึ่งกลายเป็น User ที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลก”

สำหรับกรณี Podcast ที่ความจริงมีมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งได้รับความนิยม ซึ่งเขามองว่า ความน่าสนใจของ Podcast และน่าจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความนิยม เพราะผู้ใช้งานสามารถปิดแอพและสามารถทำอย่างอื่นไปด้วยได้ ซึ่งแตกต่างจากอันอื่นชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันคนนิยมทำอะไรหลายๆ ไปพร้อมกัน (Multitask) เช่น ฟัง Podcast ไปด้วย แชตไลน์ไปด้วย หรือขับรถไปด้วย และต้องยอมรับว่า Podcast ดีต่อการใช้งานมากที่สามารถส่งต่อหรือถ่ายทอดเนื้อหาออกไปได้ แต่เรื่องของการเก็บค่าสถิติต่างๆ ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปเก็บค่าสถิติหรือดูจากตรงไหนเป็นหลัก

เกิดโมเดลธุรกิจใหม่เพราะความอดทนผู้ใช้อินเตอร์เน็ทน้อย

5 ปีผ่านมา ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเยอะทั้งในเรื่องของ Infrastucture และ Capacity ของ Network แต่จะสังเกตเห็นได้ว่า ปัจจุบันเราต่างที่จะอดทนรอใช้อินเตอร์เน็ทได้น้อยกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก ซึ่งหากดูแล้วอินเตอร์เน็ทปัจจุบันก็ไม่ได้ช้า แต่เพราะวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปจริงๆ โดยที่เราไม่ได้รู้ตัวดีตัว ทำให้เห็นชัดว่า ปัจจุบันน้อยคนมากที่จะบอกว่าตัวเองติดมือถือ และน้อยคนมากที่ไม่ติดมือถือ ซึ่งถือว่าเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์เมื่อเทียบกับอดีตที่บอกว่า มนุษย์คือสัตว์สังคม แต่ตอนนี้หลายคนกลับชอบที่จะสื่อสารและอยู่กับตัวเอง

นอกจากนี้ เขายังมองว่า ตอนนี้คนเราไม่อดทนต่อความไม่สะดวกสบาย เห็นได้จากถ้าย้อนไปในอดีตเวลาไปถอนเงินแบงก์ ต้องเขียนใบเบิกใบถอน ต้องไปเข้าคิว แต่ปัจจุบันตอนนี้แค่เพียงแอพพลิเคชั่นแบงก์ช้าหรือทำธุรกรรมไม่ได้ ก็จะเกิดอาการหงุดหงิด อีกทั้งตอนนี้คนเรามีความต้องการที่อยากจะทำสิ่งต่างๆ ใหม่ตลอดเวลา ทั้งหมดมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์คือ ตอนนี้เราแทบไม่มีเวลาที่จะรู้จักตัวเองเลย เพราะทุกสิ่งอย่างทำให้เรามองออกไป และทำสิ่งต่อไปเรื่อยๆ

“เรากำลังมีบิซิเนสโมเดลโลกของอนาคตใหม่ และกำลังจะกลับไปสู่ความเป็นมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (Wellness) เพราะอย่างที่ไปเจอล่าสุด ตอนไปที่แคนาดา มีไปเจอบูธของฝรั่งสอนการนั่งสมาธิ ทำให้พบว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนี้ มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 5-6 แสนล้าน ทั้งๆ ที่ความจริงเรื่องการนั่งสมาธิเราสามารถทำด้วยตัวเองได้ เพียงแต่เราจะติดแอพฯ เพราะเราต้องการที่จะใช้มัน”

การทำธุรกิจในอนาคตเริ่มยากมากขึ้น

เพราะการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตอนนี้เป็นเรื่องที่มองยากมากขึ้น จากที่เห็นในปัจจุบัน บางอย่างเกิดขึ้นมาเพราะความจริงต้องการที่จะแก้ไขปัญหาของเราเอง แต่ดันสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมอื่นได้ด้วย ก็กลายเป็นว่า สิ่งใหม่นั้นเข้าไปเป็นดิสรัปชั่นธุรกิจเก่าไปด้วย ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้

“ตอนนี้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจจะเริ่มคาดการณ์กันไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว โดยเฉพาะคำว่า Business Forecast อาจจะต้องโยนทิ้งไป และเปลี่ยนเป็น Business Prototype แทน และการทำแผนธุรกิจระยะยาว 10 ปี อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นมากกว่าการทำแผนระยะสั้นที่แน่นอน ปรับเดือนต่อเดือน และสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันต่อสถานการณ์ ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับการกระทำของเราวันนี้ ซึ่งตอนนี้ศรีจันทร์ก็ทำแบบนี้อยู่ ส่วน Business Forcast ก็ยังทำอยู่ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากเท่ากับเมื่อก่อน

เก็บ Data สำคัญสุดต้องตอบให้ได้ว่า เราต้องการอะไรจากมัน

ตอนนี้หลายหน่วยงานหรือหลายองค์กรให้ความสำคัญในข้อมูลการ “เก็บ Big Data มากเกินไป” มีการลงทุนเรื่องนี้กันไปเยอะ แต่มีไม่น้อยที่มักลืมว่า “ไม่ได้ตั้งโจทย์ในการเก็บข้อมูลตั้งแต่แรกว่า สุดท้ายต้องการ Data นั้นไปทำอะไร” เพราะสิ่งที่เจอคือ หลายครั้งไม่สามารถเอาข้อมูลที่ลงทุนทำ Big Data จำนวนมาก ไปขยายต่อได้

“ที่เห็นการประชุมของบริษัท หรือบอร์ดบริษัทหลายแห่งพยายามทำเรื่อง Big Data กันมาก สุดท้ายพอลงลึกไปในรายละเอียด ความจริงอาจจะแค่ต้องการอยากรู้เรื่องลูกค้า แต่ลงทุนเก็บข้อมูลไปจำนวนมหาศาล สรุปลงทุนไป 20 ได้ข้อมูลที่นำมาปรับใช้กับแผนปฏิบัติงานเพียงแค่ 3 ส่วนที่เหลือ 17 อย่างที่ไม่สามารถนำมาปรับใช้กับแผนงานของตัวเองได้”

‘Ethical Concerns’ เรื่องหลักที่ต้องโฟกัส ปี 2020-2030

เขามองว่า ในปี 2020-2030 เรื่องความกังวลในเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรของปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ Ethical Concerns’ จะกำลังเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการกล่าวถึงและต่อสู้กันเชิงความคิดมากขึ้น เพราะหลายเรื่องหากลองมาดูในรายละเอียด เพราะอนาคต AI อาจจะมีการเรียนรู้และเข้าใจตัวเรามากกว่าตัวเราเอง จนสามารถที่จะคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเราได้ ขณะเดียวกันจะรู้ได้อย่างไรว่า AI จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและถูกต้อง และใครจะเป็นคนมาเคาะหรือตัดสินใจเรื่องนี้

ตัวอย่างเช่น กรณีที่เรากำลังขับรถอยู่ และในจังหวะที่ต้องเลือกชนเพื่อรักษาชีวิตกับรถมอเตอร์ไซต์ที่ขนาบข้างทั้งฝั่งซ้ายและขวาของรถยนต์ AI จะเลือกชนใครระหว่างคนขับมอเตอร์ไซต์ทางด้านซ้ายที่ใส่หมวกกันน็อก กับคนด้านขวาไม่ใส่หมวกกันน็อก ซึ่งส่วนใหญ่หากคิดกันเร็ว อาจจะชนคนที่ใส่หมวกกันน็อกเพราะมีโอกาสรอดมากกว่า แต่การที่มีกฎหมายครอบคลุมอยู่ก็ใครจะไปรู้ว่าเป็นเรื่องซวยแทนหรือไม่ ทางกลับกันหากชนคนที่ไม่ใส่หมวกกันน็อกก็อาจจะกลายเป็นศาลเตี้ยที่ตัดสินแทนคนอื่นไปแทน

หรือในกรณีที่มีผู้หญิง 2 คนกำลังขับรถอยู่ เวลาจะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์จะเลือกด้านไหนชนระหว่างผู้หญิงที่โสด กับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูก เพียงแต่วันนั้นลูกไม่ได้นั่งมาด้วย คำตอบตามหลักมนุษยชาติคือต้องเลือกชนทางด้านผู้หญิงที่โสดหมด เพราะคนที่อยู่คือสามารถสืบทอดทางเจเนเรชั่นได้ หรือการนำ AI ไปใช้ในการตัดสินกระบวนการยุติธรรม ที่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความลำเอียง

สรุปความยากตอนนี้คือ ใครจะเป็นคนมาตัดสินใจหรือเคาะเรื่องนี้ และที่ยากไปกว่านั้นคือ เรื่องนี้กำลังเข้าไปอยู่ในทุกธุรกิจ และน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่แต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญ

ไปร่วมรับฟัง Speaker หลายท่านกันแบบเต็มๆ ได้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

🎟 ราคาบัตร 🎟 880 บาท
ซื้อบัตรได้ที่ >> https://www.ticketmelon.com/Future-Maker-Night/futuremakernight2019