คงกล่าวได้ว่าเป็นข่าวที่มาแบบเงียบๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกกำลังพุ่งความสนใจไปที่การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ เมื่อ “ญี่ปุ่น” เตรียมเพิ่มการคุมเข้มการลงทุนจากต่างชาติ จากความวิตกเรื่องความมั่นคง
ภายใต้กฎระเบียบที่คุมเข้มขึ้นนั้น นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาถือครองหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่น ต้องแจ้งต่อหน่วยงานกำกับดูแลการลงทุนของญี่ปุ่นเมื่อซื้อหุ้น 1% หรือมากกว่า จากปัจจุบันที่ต้องแจ้งเมื่อซื้อหุ้นสัดส่วน 10% โดยหลายฝ่ายคาดว่ากฎใหม่มีแนวโน้มผ่านการลงมติจากรัฐสภาภายในปีนี้ และจะบังคับใช้เป็นกฎหมายในปีหน้า
โดยกฎใหม่จะมีผลบังคับแค่สำหรับธุรกิจในภาคส่วนที่รัฐบาลมองว่า “อ่อนไหว” ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงแห่งชาติ เช่น ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน กลาโหม พลังงานนิวเคลียร์ โทรคมนาคม และการขนส่งทางทะเล แต่ไม่มีกฎบังคับชัดเจนว่าบริษัทอะไรบ้างที่เข้าข่าย จากจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นทั้งหมด 3,680 แห่ง
ในปัจจุบัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นนับว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อเทียบตามมาร์เก็ตแคป
เทียบมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นญี่ปุ่นกับทั่วโลก
หวั่นฉุดเงินลงทุนต่างชาติ
ในปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติคิดเป็นสัดส่วน 70% ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าแผนการคุมเข้มต่างชาติเข้ามาลงทุนจะได้รับเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งจากผู้อำนวยการตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น (JPX) รวมถึงสถาบันการเงินต่างชาติอย่าง Goldman Sachs ที่มองว่ากฎใหม่เสี่ยงบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ จนอาจฉุดเม็ดเงินลงทุน และส่งผลให้ความพยายามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติของญี่ปุ่นตลอด 7 ปีต้องสูญเปล่า
ล่าสุด Nikkei Asian Review รายงานว่า หลังเจอเสียงคัดค้าน รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่าจะผ่อนคลายกฎสำหรับนักลงทุนสถาบันจากต่างชาติ เช่น กองทุนบำนาญ ผู้จัดการกองทุน และข้อตกลงการลงทุนที่ไม่ส่งผลต่อการบริหารงานธุรกิจ
แต่การเปิดเผยนี้ก็ยังไม่ช่วยบรรเทาความวิตกของบรรดาสถาบันการเงินต่างชาติลง เพราะไม่ได้ให้ความชัดเจนในเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ได้แก่
– เพดาน 1% ที่ต้องแจ้งต่อทางการ เข้มงวดเกินไปเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ 10% และนักวิเคราะห์เสนอว่าเพดานควรอยู่ที่ 5%
– กฎยังไม่ชัดเจนว่าจะครอบคลุมบริษัทไหน นักลงทุนประเภทไหน และการลงทุนแบบไหนบ้าง เช่น block trade ที่ Goldman Sachs ตั้งข้อสงสัยว่าควรได้รับการยกเว้นจากกฎหรือไม่
– ความล่าช้าของกระบวนการพิจารณาการลงทุนในกรณีที่เข้าไปซื้อหุ้นที่เข้าข่ายเกิน 1% โดยปัจจุบันทางการญี่ปุ่นใช้เวลาพิจารณาประมาณ 30 วัน และมีแนวโน้มจะล่าช้าขึ้นไปอีกเมื่อกฎใหม่บังคับใช้ เพราะคาดว่าจะมีบริษัทยื่นขอการพิจารณาเพิ่มขึ้น 8 เท่า
เปิดการ์ดต้านจีน ตามรอยสหรัฐ-ยุโรป
แม้ไม่ได้ระบุชัดเจน แต่การคุมเข้มการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นของญี่ปุ่น มีเป้าหมายที่ “จีน” เป็นหลัก ขณะที่จีนเริ่มมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเข้าไปลงทุนซื้อกิจการต่างชาติ
เมื่อปีที่แล้ว เอกชนจีนเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ในญี่ปุ่นทั้งหมด 2.2 แสนล้านเยน เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติทั้งหมดที่ 30.7 ล้านล้านเยน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของญี่ปุ่นคล้ายคลึงกับสหรัฐที่เริ่มคุมเข้มการลงทุนจากต่างชาติเมื่อปีที่แล้ว โดยพิจารณาการเข้าถือครองหุ้นหรือการควบรวมกิจการใน 24 ภาคธุรกิจเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง
ส่วนยุโรปนั้น เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปเริ่มใช้ระบบการคัดกรองการลงทุนจากต่างชาติที่เข้มงวดมากขึ้น หลังพบว่าต่างชาติเข้าไปเป็นเจ้าของบริษัทยุโรปมากขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 35%
You must be logged in to post a comment.