HomeUncategorizedLibra เปิดสัดส่วนตระกร้าสกุลเงินครั้งแรก

Libra เปิดสัดส่วนตระกร้าสกุลเงินครั้งแรก

หลัง Facebook ประกาศจะเปิดตัว Libra เงินดิจิทัลตัวแรกไปก่อนหน้านี้ โดยตั้งใจให้เป็น Stablecoin หรือเงินที่มีมูลค่าเสถียร ด้วยการผูกกับตระกร้าสกุลเงินหลักของโลก ในที่สุด Facebook ก็เปิดเผยเป็นครั้งแรกกับหน่วยงานรัฐบาลเยอรมนีว่าตระกร้าสกุลเงินจะประกอบด้วยสกุลเงินใดบ้าง 

5 สกุลเงินในตระกร้าเงิน Libra

50% – ดอลลาร์สหรัฐ 

18% – ยูโร 

14% – เยน

11% – ปอนด์อังกฤษ

7% – ดอลลาร์สิงคโปร์ 

สิ่งน่าสนใจคือตระกร้า Libra ของ Facebook นั้นไร้สกุลเงิน “หยวน” ของจีน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าอาจจะช่วยให้แผนการออกเงิน Libra ในสหรัฐเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ขณะที่รัฐบาลสหรัฐกังวลว่าเงินหยวนจะมีบทบาทมากขึ้นในฐานะสกุลเงินหลักของโลก ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

ในปัจจุบัน เงินหยวนถือเป็นสกุลเงินที่มีการใช้จ่ายมากที่สุดอันดับ 5 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 1.88% ตามข้อมูลของ SWIFT โดยเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงใช้ทำธุรกรรมมากที่สุดในโลกคิดเป็น 40.76% ของธุรกรรมทั้งหมด ตามด้วยยูโร (33.16%) ปอนด์อังกฤษ (7.11%) และเยน (3.47%) 

บทบาทของเงินหยวนนับว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่มสกุลเงินหยวนเข้าไปในตระกร้าสกุลเงิน SDR ของ IMF เมื่อปี 2016 

จับตา “ดิจิทัลหยวน” 

ในขณะที่ Facebook เตรียมออกเงิน Libra ในปีหน้า เมื่อไม่นานนี้ก็เพิ่งมีข่าวว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) ใกล้จะออกเงินหยวนดิจิทัล หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) เพื่อหวังให้เอามาใช้แทนเงินสด (fiat currency) โดยมีเงินหยวนรองรับที่อัตรา 1:1 

ดิจิทัลหยวนของจีนคาดว่าจะมีการใช้งานอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 11 พ.ย. หรือวันคนโสด (Singles Day) ที่เป็นวันลดกระหน่ำสินค้าครั้งใหญ่สุดในรอบปีและชาวจีนช้อปปิ้งออนไลน์กันมากที่สุด โดยมีรายงานว่าในเบื้องต้น แบงก์ชาติจีนได้มอบหมายให้สถาบัน 7 แห่งที่รวมถึง Alibaba และ Tencent กระจายการใช้งานเงินดิจิทัลนี้ไปยังประชากร 1,300 ล้านคนทั่วประเทศ  

การจะออกเงินดิจิทัลหยวนของจีนถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มบทบาทของสกุลเงินหยวนบนเวทีโลก โดยทางการจีนตั้งเป้าให้ระบบ CBDC รองรับการทำธุรกรรมได้สูงถึง 300,000 ราย/วินาที และจะขยายการใช้งานเงินดิจิทัลหยวนไปยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน เช่น สหรัฐ ซึ่งในอนาคตนั้นอาจมีการเพิ่มความร่วมมือกับสถาบันการเงินในต่างชาติเพื่อเพิ่มการทำธุรกรรมด้วย CBDC