สถานการณ์ความปั่นป่วนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ความขัดแย้งไม่จบสิ้นกรณีสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะสถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ความมั่งคั่งทั่วโลกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินปี 2008
รายงานความมั่งคั่งโลกฉบับล่าสุด จัดทำโดยบริษัทประกันและจัดการสินทรัพย์ อลิอันซ์ (Allianz) พบว่าความมั่งคั่งทั่วโลก คำนวณจากสินทรัพย์ทางการเงินของภาคครัวเรือน ซึ่งหมายถึงเงินสด ตราสารหนี้ และหุ้น ลดลง 0.1% ในปี 2018 ไปอยู่ที่ 172.5 ล้านล้านยูโร หรือ 5,800 ล้านล้านบาท เพราะผลพวงของศึกการค้า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการปรับแนวทางนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ ทำให้ปีที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นในตลาดทั่วโลกลดลงถึง 12% โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลง 10.8% ซึ่งมูลค่าหุ้นที่ปรับตัวลงส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์
“หนี้สิน” เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ฉุดความมั่งคั่งลง โดยหนี้ครัวเรือนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5.7% ในปี 2018 แม้ว่าลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 6% แต่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวที่ 3.6%
แม้สัดส่วนหนี้ทั่วโลกต่อจีดีพียังอยู่ที่ 65.1% แต่การก่อหนี้ในเอเชีย (ที่ไม่รวมญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้นมาอย่างน่าตกใจ โดยในเวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้พุ่งขึ้นเกือบ 10% นำโดยจีนที่เพิ่มขึ้น 15%
สัดส่วนหนี้สินที่ปรับตัวขึ้น ส่งผลให้สินทรัพย์ทางการเงินสุทธิ ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างสินทรัพย์ทางการเงินขั้นต้นและหนี้สิน ลดลง 1.9% ไปอยู่ที่ 129.8 ล้านล้านยูโรเมื่อสิ้นปีที่แล้ว โดยสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ร่วงหนักสุดถึง 5.7% เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ลดลง 1.1%
คนไทยมั่งคั่งแค่ไหน
ในปี 2018 ความมั่งคั่งของคนไทยก็ลดลงเช่นเดียวกับคนทั่วโลก โดยสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิต่อหัวประชากรอยู่ที่ 3,575 ยูโร (120,333 บาท) ลดลงจากปีก่อนหน้านี้ที่ 4,330 ยูโร (145,700 บาท) และต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2018 ที่ 23,330 ยูโร (785,200 บาท)
หนี้ครัวเรือนเป็นตัวการหลักฉุดความมั่งคั่งของคนไทยลง โดยหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี อยู่ที่ 78.4% นับว่าสูงกว่าสัดส่วนหนี้โดยรวมของประเทศเอเชียที่ 63.2%
จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ทำให้เมื่อหักลบหนี้แล้ว สินทรัพย์ทางการเงินสุทธิต่อหัวลดลงไปอยู่ที่ 56.4% ของจีดีพีในปี 2018 จากสินทรัพย์ทางการเงินขั้นต้นต่อหัวก่อนหักหนี้ที่ 134.8% ของจีดีพี
ไม่เพียงแค่หนี้สูง คนไทยยังลงทุนและออมเงินน้อย สะท้อนออกมาจากปริมาณสินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือนไทยที่โตเพียง 0.8% ในปี 2018 ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ปรับขึ้น 5.8%, 5% และ 4.2% ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวของจีนและญี่ปุ่น ลดลง 3.4% และ 1.2%
แล้วคนไทยลงทุนอะไรบ้าง
ประเภทสินทรัพย์ทางการเงินของคนไทยสามารถแบ่งได้ดังนี้
เงินฝาก: 51%
หุ้น: 32%
ประกันและเงินบำนาญ: 17%
You must be logged in to post a comment.