HomeUncategorizedWHA ใช้ทฤษฎีหมูสามชั้นวิเคราะห์ Trade War

WHA ใช้ทฤษฎีหมูสามชั้นวิเคราะห์ Trade War

ต้องถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามองตอนนี้ สำหรับการบริหารงานของ ‘จรีพร จารุกรสกุล’ ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เพราะเป็นที่จับตาว่าได้ประโยชน์จากผลของสงครามการค้าของสหรัฐกับจีน (Trade War)

ใช้ทฤษฎีหมูสามชั้นวิเคราะห์ Trade War

‘จรีพร’ กล่าวว่า ตอนแรกไม่คิดว่า Trade War จะเกิดยาวเหมือนกัน แต่พอเริ่มวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีหมูสามชั้น ที่เริ่มมอง Trade War คือผิวของหนังชั้นนอกซึ่งกระทบต่อการค้า จนมาเจอส่วนไขมันที่หนาขึ้นมาคือ Tech War ที่เกิดขึ้นกับกรณีของ Huawei แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นส่วนที่หนาที่สุดคือชั้นข้างในนั่นคือ เรื่องความมั่นคง ซึ่งกรณีนี้เป็นประเด็นหลักที่ทำให้ Trade War ส่งสัญญาณว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาวกว่าที่คาดไว้ จึงปรับกลยุทธ์กับทีมงาน ด้วยการรีบเข้าไปคุยกับลูกค้า เตรียมรับลูกค้าทั้งที่เป็นจีนและไม่ใช่จีนแต่ไปตั้งโรงงานที่จีน และเริ่มไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ที่ประเทศจีน เช่น ที่ยูนานก่อน ประกอบกับที่ขณะเดียวกัน WHA ก็ได้รับอานิสงส์เรื่องโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้ก่อนหน้านี้บริษัทมีการเตรียมพร้อมสำหรับพื้นที่ในนิคมฯ และการบริหารส่วนอื่นๆ อยู่แล้ว

สนใจจีนอยู่แล้ว แต่ Trade War ช่วยหนุน

ปกติ WHA จะไปโรดโชว์ที่ประเทศจีนเป็นประจำทุกปี โดยมีทั้งที่บริษัทไปเองด้วยและก็มีไปกับหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น บีโอไอ รวมถึงมีทีมขายและที่ปรึกษาทางการเงินจีนที่คอยช่วยประสานงานแนะนำได้ ซึ่งทั้งที่บริษัทมีความสนใจที่จะไปคุยเอง แล้วก็เชิญเข้ามาเจรจา อีกทั้งยังเน้นกลุ่มลูกค้าจีนกับไต้หวันไปพร้อมๆ กัน

“เชื่อว่าสหรัฐไม่ยอมจีน ยิ่งปีที่แล้วก็เป็นปีแรกที่จีนมีการส่งออกแซงสหรัฐ ทั้งๆ ที่สหรัฐมีการส่งออกสูงสุดมาตลอดหลายสิบปี หากย้อนไปในอดีตถ้าจำกันได้ตอนที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังจะเป็น Rising Star ทางเศรษฐกิจ สหรัฐไม่ยอม แต่ช่วงนั้นไม่ได้มีเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนตอนนี้ และเชื่อว่าสหรัฐจะทำทุกอย่างที่จะสกัดจีน ซึ่งสงครามการค้าจะยาวหรือไม่อยู่ที่จีนจะสู้ด้วย และก็มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันใหญ่ทั้งคู่ แต่ก็เชื่อว่าสุดท้ายไม่ได้น่าจะมีใครต้องการให้โลกพังไปหมด”

อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การกระจายเรื่องการลงทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงประเทศเดียวอีกต่อไป และการกระจายการลงทุนก็เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยมีเป้าหมายมายังพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

สิ่งที่ไทยต้องเตรียมตัว

หากเปรียบไทยกับเวียดนามที่เหมือนจะเป็นทางเลือกหลักของประเทศผู้ผลิตต่างๆ สิ่งที่ไทยได้เปรียบคือ ไทยเราเป็นมิตรกับคนจีนและไต้หวันมากกว่า และสิ่งที่ได้พูดมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ไทยเราควรต้องเตรียมพร้อมอย่างไร รัฐบาลไทยจะมาฮันนีมูนพีเรียดไม่ได้แล้ว เราเตรียมความพร้อมที่จะรองรับกลุ่ม Tech ที่จะออกจากสหรัฐอย่างไร อันนี้สำคัญที่สุด เวียดนามมีซัมซุงไปแล้ว แล้วถ้าเขาได้ Apple ไปอีก เราจะเหนื่อย

ขณะเดียวกัน ธุรกิจในไทยก็มีการขยาย และญี่ปุ่นก็กลับมาชัดเจนตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งส่วนที่เข้ามาซื้อที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองการขยายโรงงาน แต่ไม่ได้ขยายการสร้างโรงงานมานานแล้ว ก็มีการก่อสร้างเพิ่ม และส่วนที่เริ่มมีการซื้อที่ดินใหม่

EEC + Trade War หนุนลูกค้าจีนเพิ่มเท่าตัว

ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าจีนเพิ่มขึ้นมาเป็น 6-7% จากปีก่อนมีเพียง 2 % เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวแค่ภายในระยะเวลา 1 ปี เท่านั้น ส่วนใหญ่คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอนซูเมอร์ และเหล็ก ขณะที่คาดว่ายอดขายที่ดินจากลูกค้าจีนและไต้หวันปีนี้จะสูงถึง 50 % จากปีก่อนที่ 43 % ซึ่งแซงหน้าลูกค้าเก่าอย่างญี่ปุ่น และตอนนี้ยังมีนัดกับลูกค้าจีนเข้าอย่างต่อเนื่องประมาณสัปดาห์ละ 10 ราย ซึ่งจะมีทั้งที่เข้ามาขอซื้อหุ้น เข้ามาร่วมลงทุน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเลือกสิ่งที่ต้องเป็น อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ต้องช่วยสร้างรายได้และสร้างอนาคตให้กับประเทศ

“มีธุรกิจรีไซเคิลที่ต้องขนเข้ามาจากประเทศจีน เพราะจีนไม่ให้ธุรกิจนี้ทำที่จีนแล้ว แม้เขาจะมาขอซื้อที่ 2,000 ไร่ แต่ก็ตัดสินใจไม่ขาย หรืออย่างกลุ่มจีนที่จะมาขอร่วมลงทุน ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นเทคโนโลยีเราคุยกันได้ และถ้าคุณมาคุณต้องมีพรีเมียมอะไรที่น่าสนใจ และที่ผ่านมามีมาขอซื้อหุ้น Big Lot 5% แต่ไม่ขายเพราะต้องการถือหุ้นในสัดส่วนที่ระดับปัจจุบันที่ 45% ก็ให้เขาไปซื้อในกระดาน”

เศรษฐกิจแค่ชะลอตัว

หลายคนอาจมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่ส่วนตัวมองว่าจะแค่ Slow Down เพราะมองว่ารอบวงจรเศรษฐกิจ 10 ปีจะเกิดวิกฤตหรือ Recession สักครั้งจะไม่เหมือนก่อน ตอนนี้จะเร็วขึ้น ส่วนตัวมองว่าแค่เพียง 6 ปี เท่านั้น เนื่องจากตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และปกติเวลาจะเกิดวิกฤต สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ อัตราการจ้างงานจะต้องลดลง แต่ตอนนี้อัตราการจ้างงานของสหรัฐยังดีอยู่

เตรียมเงินสดให้พร้อมลงทุนยุคดอกเบี้ยต่ำ

เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวถือเป็นโอกาสดีที่จะเก็บเงินสดเพื่อเตรียมเข้าซื้อลงทุนของดีๆ โอกาสมาพร้อมวิกฤตเสมอ แต่ที่ผ่านมาอาจมีการมองว่าเศรษฐกิจดีแล้วได้ใช้เงินมหาศาล แต่เพราะไปซื้อตอนที่ไม่ได้เกิดรายได้ ไม่ได้สร้างผลตอบแทน ตอนนี้ก็ต้องขายออกมาก แต่ WHA ตอนนี้ขอเก็บเงินสดไว้ดีที่สุด โดยล่าสุดบริษัทลูก บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เพิ่งไปซื้อบริษัทธุรกิจน้ำประปาเมืองฮานอย ประเทศเวียดนามเกือบ 3,000 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีการใช้เงิน จาก 3 ส่วนคือ 1.การออกหุ้นกู้สำหรับการรองรับการลงทุนในระยะยาว และยังมีโอกาสออกได้อีกมาก 2.ตั๋วเงินระยะสั้น (บีอี) ที่จะต้องใช้เงินสำหรับโครงการระยะสั้นๆ เพราะดอกเบี้ยกว่า 1% เท่านั้น  และ 3. โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์จากแบงก์ ซึ่งระหว่างทางในแต่ละปีบริษัทมีเงินเข้ามาด้วย เช่น จากการขายที่ดิน รวมถึงยังมีเงินจากการออก REITs อีก