วานนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้เปิดเผยว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัว 2.3% ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือในรอบเกือบ 5 ปี หรือ ต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 ชะลอลงจาก ไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ขยายตัว 2.8% ส่งผลให้จีดีพีครึ่งปีแรก 2562 ขยายตัว 2.6% และ สศช.ได้ปรับลดประมาณจีดีพีปีนี้เหลือโต 3% หรือเติบโตในช่วง 2.7-3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6% หรือเติบโตในช่วง 3.3-3.8%
ทรีนิตี้มองแค่ช่วยพยุง
“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จีดีพีที่สภาพัฒน์ประกาศออกมาถือเป็นระดับที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เริ่มให้มุมมองถึงผลกระทบส่งออกมีน้ำหนักต่อการเติบโตของจีดีพีมากขึ้นและน่าจะมีการปรับการคาดการณ์ในรอบต่อไป
“ผลที่เกิดขึ้นมาจากการส่งออก การท่องเที่ยวที่มีผลให้ดัชนีปรับลดลง สิ่งที่จะทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้คือเรื่องการบริโภคภายในประเทศ เพราะจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจได้ง่ายและเร็วที่สุด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันนี้ ก็น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นเท่านั้น หรือเป็นการช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจปรับลดลง (Down Side) ระยะหนึ่งเท่านั้น แต่การที่จะทำให้จีดีพีไทยกลับไปโตมากกว่าระดับ 3 % น่าจะเป็นไปได้ยาก ยกเว้นวันนี้มีการประกาศมาตรการที่เพิ่มเติมอื่นๆ เข้ามาเซอร์ไพรส์”
สิ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจน่าจะเป็นการขับเคลื่อนการลงทุนจากโครงการภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็มีการปรับลดลงมาตั้งแต่ต้นปี โดยอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปีนี้ลดลงเหลือ 101 บาท/หุ้น หรือลดลงจากต้นปีถึง 12 % ที่เดิมว่าอยู่ที่ 115 บาท/หุ้น และ EPS ปี 2563 อยู่ที่ 112 บาท/หุ้น ปรับลดลงมา 10 % จากปี 2563 ที่เดิมคาดว่าอยู่ที่ 125 บาท/หุ้น
“ตอนนี้กลยุทธ์ลงทุนจากที่มองอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พีอี) อนาคตต้องคิด14 เท่า ถือว่า EPS ปีหน้าที่ 112บาท/หุ้น ระดับดัชนีคือ 1,580-1,600 จุดเป็นจุดที่ทยอยเข้าเก็งกำไรเป็นหลัก เพราะตอนนี้ภาวะการลงทุนยืนอยู่แต่บนความไม่แน่นอนโดยเฉพาะผลต่อเนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน แต่หากจะหวังปัจจัยบวกมาเสริมการลงทุนมองมาจากปัจจัยต่างประเทศมากกว่าในประเทศ”
กลยุทธ์ลงทุนแบ่งเป็น 4 ธีม อ้างอิงจากยุคที่อัตราผลตอบแทนที่พันธบัตรที่ต่ำเพราะจากการลดดอกเบี้ย คือ 1. เรื่องที่มีรายได้ที่มั่นคงมีการจ่ายเงินปันผลที่สูง (Defensive) หุ้นสาธารณูปโภค REITs 2.หุ้นที่เกี่ยวข้องการผลิต Global Play บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) และบริษัท ไทยออยล์ (TOP) 3.หุ้นที่เก็งกำไรและเกี่ยวข้องกับการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ เช่น ค้าปลีก บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) หรือโรงแรม บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) และ 4. หุ้นที่ราคาน้ำมันมีการปรับลง เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)
เอเซีย พลัสมองกว่าจะเห็นผลปลายไตรมาส3
เม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐ 3.1 แสนล้าน ส่วนใหญ่น้ำหนักไปเป็นสินเชื่อแบงก์รัฐเพื่อเตรียมปล่อยช่วยเหลือภาคเกษตรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หรือช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) ซึ่งไม่น่าจะถูกผลักออกมาให้ได้ง่าย แต่สิ่งที่จะผลักมาโดยตรงคือเงินงบประมาณที่มีประมาณ 10 % จากวงเงินทั้งหมด ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเริ่มเข้าระบบจริงคือปลายไตรมาส 3 เพราะต้องมีขั้นตอนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ก็ต้องลุ้นดูว่าจะช่วยผลักดันได้มากน้อยขนาดไหน เพราะปีที่แล้วฐานการส่งออกของไทยยังอยู่สูงในช่วงปลายปี และคาดว่ามาตรการเพียงแค่นี้ไม่น่าจะเพียงพอ โดยประเมินว่ารัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นก๊อก 2 ออกมา เช่น การลดหย่อนภาษี ช็อปช่วยชาติ และ ลดดอกเบี้ย
เมย์แบงก์ฯ ชี้แก้ปลายทาง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เป็นแค่มาตรการที่ส่งผลในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่หลายประเทศต่างก็มีมาตรการต่างๆ ที่มาช่วยกระตุ้นเศษฐกิจแตกต่างกัน ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาปลายทาง ของไทยก็เพื่อกระตุ้นการบริโภคก่อน ธนาคารกลางจีน (PBOC) อ้างอิงการลดอัตราดอกเบี้ยตาม Loan Prime Rate (LPR) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.31% หรือสินเชื่อเงินกู้ให้กับลุกค้าชั้นดี คล้ายกับ MLR เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจของจีน จีนลดค่าเงินหยวน หรือการที่นาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ย ฯลฯ แต่ปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้ต้องมาจากต้นทางคือการทำสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ดังนั้น ตอนนี้อัพไซต์จากการมาตรการต่างๆ เกิดขึ้นได้ยาก จนกว่า 2ประเทศใหญ่จะมีการหารือสงครามการค้า