คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หักปากกาเซียนกันแล้ว เพราะสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดเงินและตลาดทุนกันยกใหญ่ เพราะเมื่อเวลา 14.00 น.ที่มีการแถลงเรื่องดอกเบี้ย ปรากฎเสียงแตกลงมติ 5 เสียงลดดอกเบี้ยลง 0.25 % เป็น 1.50 % จากเดิม 1.75 % ขณะที่อีก 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยไว้ และพอตลาดหุ้นภาคบ่ายเปิด ดัชนีหุ้นก็ดีดรับข่าวนี้ทันที
ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ถือเป็นในรอบ 4 ปี 5 เดือน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด เพราะการส่งออกจะชะลอตัวลง
สุดท้ายตลาดหุ้นไทยวันนี้ปิดที่ 1,669.44 จุด ลดลง 2.04 จุด หรือ 0.12 % มูลค่าการซื้อขาย 84,465.14 ล้านบาท ต่างชาติเทขาย 3,604.76 ล้านบาท ร่วมด้วยบัญชีโบรกเกอร์ขาย 1,002.88 ล้านบาท ขณะที่กองทุนแห่ซื้อ 4,582.32 ล้านบาท และรายย่อยซื้อ 25.33 ล้านบาท
ASP แบงก์กระทบเลือกช็อปรายตัวเลือกรับปันผล5%
“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า การลดนโยบายดอกเบี้ยลงครั้งนี้ถือว่าสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดหุ้นมาก และถือว่าเป็นข่าวดีกับสภาพตลาดโดยรวมเพราะจะทำให้ “ต้นทุนทางการเงินการประกอบธุรกิจจะถูกลง” จากเดิม ซึ่งน่าจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างหนึ่ง
แต่ระยะสั้นจะยังส่งผลกับธนาคารพาณิชย์และประกันภัย เพราะจะมีผลให้ NIM ลดลง ซึ่งวันนี้ก็เห็นแล้วว่า เพราะ “ตลาดหุ้นไทยถูกถ่วงด้วยดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์และประกันในตลาดหลักทรัพย์กว่า 20 % ของมาร์เก็ตแคปโดยรวม” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นไทยลดลงวันนี้ 4.3 จุด และ ASP ได้ปรับลดน้ำหนักหุ้นกลุ่มแบงก์เป็นน้อยกว่าตลาด จากที่ก่อนหน้านี้เป็น Neutral
ขณะที่แบงก์ขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะได้รับผลบวก TISCO, KKP, TCAP เพราะมีโครงสร้างสินเชื่อเป็นดอกเบี้ยคงที่สูง แต่มีโครงสร้างเงินฝากบางส่วนที่เป็นลอยตัว จึงเป็นบวกต่อ NIM
ทั้งนี้ ประเมินว่าแบงก์ขนาดใหญ่จะมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับและ NIM โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน (Net Lender) ในตลาดเงิน อย่างธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ส่วนแบงก์ใหญ่อื่นๆ อย่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กระทบในแง่ที่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัวมากกว่าเงินฝาก
“ระยะสั้นกลุ่มแบงก์กับประกันได้รับผลกระทบแน่ แต่ตอนนี้กำลังให้ทีมวิเคราะห์ทำรีวิวใหม่ เพราะมองว่าการที่หุ้นไทยปรับลงมาต่ำว่า 1,680 จุด ถือว่าด้วยกำไรแบงก์ที่ออกมากับราคาหุ้นปัจจุบันอาจจะมีราคาที่ถูกเกินไป ซึ่งถ้ากลุ่มแบงก์ได้รับผลกระทบในระยะสั้น แต่ถ้ามองว่าบางแบงก์มีอัตราการจ่ายปันผลสูงถึง 5 % ก็ถือเป็นจังหวะเข้าเก็บสะสมเพื่อรับเงินปันผลได้”
ทั้งนี้ มองว่าในระยาวถือเป็นจังหวะของหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย เช่น กลุ่มลิสซิ่ง ขณะที่กลุ่มเช่าซื้อ จะได้รับผลบวกด้วยเหตุผลเดียวกับแบงก์ขนาดกลางและเล็ก แต่หุ้นหลายตัวเต็มมูลค่าช่วงสั้นไปแล้ว โดยเฉพาะ SAWAD, MTC จึงชอบ THANI, CHAYO มากกว่า
ตลท. มองไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์
“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ไม่ได้ประหลาดใจกับ กนง. เพราะเป็นไปตามกระแสโลกที่ธนาคารกลางต่างๆ ในต่างประเทศเริ่มส่งสัญญาณและปรับลดดอกเบี้ย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด รวมถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายเรื่องมีหลายปัจจัยที่เป็นเหตุผลให้กนง.ตัดสินใจใช้การปรับลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือ
อย่างไรก็ตาม แนะนำนักลงทุนให้ติดตามและศึกษาผลกระทบต่อการลงทุนในแต่ละช่วงที่เหตุการณ์ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่รายบริษัทและรายอุตสาหกรรม และภาพรวมบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยยังมีความสามารถในการทำกำไรแข็งแกร่ง
TISCO ลดครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าจะลดต่อเนื่อง
“คมศร ประกอบผล” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) มองว่า กนง.ลดดอกเบี้ยลง ถือว่าเหนือความคาดหมายของตลาด เพราะเคยประเมินไว้เดิมว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4 จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าจะมีการปรับลดประมาณการจีดีพีจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งหน้า (18 ก.ย.) แต่มองว่าจะยังไม่ต่ำกว่า 3% (จีดีพีที่ต่ำกว่าระดับ 3% ล่าสุดคือในปี 2557 ที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1% ซึ่งเป็นปีที่มีรัฐประหารเกิดขึ้นด้วย) อนึ่ง ประมาณการจีดีพีปัจจุบันของ ธปท. ในปี 2562 อยู่ที่ 3.3%
อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังไม่ชัดเจน โดยยังเป็น “Data Dependent” ซึ่ง กนง. ระบุว่า จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป
“TISCO ESU มองว่า จะไม่เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงติดกันต่อเนื่อง โดยให้น้ำหนักในกรณีฐานว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไปจนสิ้นปี 2562 เนื่องจาก 1) เสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ในการลดดอกเบี้ยของกนง. 2) การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะสะท้อนการปรับลดคาดการณ์จีดีพีที่จะถูกปรับลดลงอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งหน้าแล้ว 3) อัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับขึ้นมาเพียง 0.25% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการสร้าง Policy Space ได้ถูกใช้ไปแล้วในการประชุมครั้งนี้ และ 4) ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตซับไพร์ม อยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งเศรษฐกิจไทยหดตัว 0.7% ในปี 2552 แต่สถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในปัจจุบันน่าจะยังไม่รุนแรงเทียบเท่ากับเหตุการณ์ในวิกฤตครั้งก่อน”
SCBS-หยวนต้า แนะหุ้นที่เอื้อต่อดอกเบี้ยลดลง
SCBS กนง.ลดดอกเบี้ยลง น่าจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อหุ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มไฟแนนซ์ โดยเฉพาะธุรกิจลิสซิ่ง อย่าง AEONTS, KKP, TCAP และ TISCO กลุ่มท่องเที่ยว นำโดย AOT, ERW, MINT กลุ่มอสังหา นำโดย AP, SPALI กลุ่มอาหาร อย่าง GFPT, TU กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง HANA และ KCE กองทุนโครงกสร้างพื้นฐาน อย่าง JASIF, DIF
หยวนต้า มองสองกลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือหุ้นกลุ่มปันผลสูง อย่างกลุ่มการเงิน ธนาคารขนาดเล็กที่ให้ปันผลสูง อสังหาริมทรัพย์ และสื่อสาร ได้แก่ ADVANC, INTUCH, LH, TTW, DIF, MTC, SAWAD, KTC, TISCO, KKP และกลุ่มส่งออกอาหารที่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มเงินบาทกลับมาอ่อนค่า โดยเฉพาะ CPF, TU
You must be logged in to post a comment.