HomeUncategorizedต้องทำให้การลงทุนเหมือนเป็นอีกหนึ่งอาชีพ

ต้องทำให้การลงทุนเหมือนเป็นอีกหนึ่งอาชีพ

เชื่อว่าหลายคนคงเคยตั้งเป้าอายุเกษียณจากการทำงานด้วยกันทั้งนั้น แต่จริงๆ ใจก็แกว่งและตอบตัวเองเบาๆ ว่า แล้วเราจะทำได้หรือ???

วันนี้มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า การมีความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายตัวเองที่เด่นชัดมาตั้งแต่เป็นนิสิตเรียนปริญญาตรีแล้วว่า จะทำงานและขอเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 50 ปี แม้สูตรความสำเร็จของ“กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง” อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสื่อสารองค์กรและธุรกิจสัมพันธ์นักประชาสัมพันธ์ บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่ “Radars Talk” อยากส่งต่อแรงบันดาลใจครั้งนี้ให้กับคนที่ตั้งเป้าหมายในชีวิตเหมือนกันว่า ตัวเราเอง สามารถเลือกชีวิตเกษียณได้ ถ้ามีการวางแผนชีวิตที่ดี

เริ่มหารายได้และลงทุนตั้งแต่เรียนปริญญาตรี

จุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักว่าต้องจำกัดการใช้เงิน เริ่มหารายได้ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี มีเงินออมเพื่อเอาไปลงทุนต่อ เพราะเห็นจากคุณแม่ที่ขยันทำงานมากทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และสิ่งที่ท่านสอนมาเสมอคือ “อย่าหมิ่นเงินน้อยอย่าคอยวาสนา” ย้อนไปกว่า 30-40 ปีก่อน ท่านเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่คาลเท็กซ์และกรุงเทพประกันภัย แต่ก็ตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำงานงานขายประกันชีวิตของไทยประกันชีวิตเต็มตัว และทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดจนได้รับรางวัลจากการขาย ซึ่งสมัยก่อนการขายประกันถือเป็นเรื่องยากมาก แต่คุณแม่ก็สามารถทำอาชีพนี้จนสามารถเลี้ยงลูกๆ เติบโตมาได้ พร้อมความขยันและบริหารจัดการเงินการลงทุนจากอสังหาริมทรัพย์อยู่เสมอ ทั้งที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอจึงเริ่มหารายได้ทั้งสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษ รับแปลงานต่างๆ และรับงานถ่ายโฆษณา ตั้งแต่เรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“แม่ทำให้เห็นว่าถ้าเราเป็นคนขยันถึงอย่างไรก็ไม่มีวันอดตาย เมื่อหามาได้แม่จะนำไปต่อยอดด้วยการไปซื้อห้องแถว แล้วปล่อยให้เช่าเพื่อเอาค่าเช่าไปผ่อนต่อ สิ่งที่ท่านสอนคือ ถ้าเรารู้จักหาสินทรัพย์ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เมื่อเวลาที่เราเกษียณแล้วหรือเวลาทำงานประจำไม่ไหว ก็จะได้มีสิ่งเหล่านี้ที่ช่วยเราได้ในการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุข หรือการที่ไปไหนด้วยกัน แล้วแม่ก็จะคอยถามให้เราคิดตลอด เช่น ลูกคิดว่าห้องแถวตรงนี้ ห้องไหนน่าซื้อมากที่สุด ทำไมเวลาเราซื้อบ้านหัวมุมถึงดี หรือบ้านต้องหันไปและบ้านต้องหันไปทางทิศนี้ หรือถ้าจะเลือกคอนโดควรเลือกแบบนี้”

ขณะเดียวกัน ตอนมหาวิทยาลัยยังเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เธอรู้สึกการลงทุนในหุ้นด้วย เริ่มจากที่ได้ฟังผู้ใหญ่ทั้งคุณแม่ คุณอา คุยเรื่องหุ้นจึงเริ่มไปหาหนังสือหุ้นอ่าน แล้วก็เริ่มนำเงินที่หามาได้ไปลงทุนต่อ

เราต้องเป็นคนก้าวไปหาโอกาสเสมอ

จากเด็กสายศิลป์ภาษาที่ส่วนใหญ่จะบอกตัวเองว่าไม่เก่งเรื่องตัวเลข แต่เมื่อคุณอาส่งไปเรียนปริญญาโทที่สหรัฐ สุดท้ายเลือกเรียนทางด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Economic Development) ในแถบเอเชียแปซิฟิก ณ School of International and Public Affairs at Columbia University แม้ตอนนั้นจะเหนื่อยแต่เธอมองว่ากลับเป็นเรื่องดีที่ทำให้ตัวเองต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ซึ่งโชคดีที่เดิมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ดูข่าวจากโทรทัศน์ ทำให้เราปรับตัวรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี เพราะตัวเราเองไม่ยอมที่จะรอให้โอกาสเข้ามา และจะมองว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะทำ แล้วก้าวไปหาโอกาสเสมอ ยิ่งรู้สึกว่าถ้าเรารู้น้อย เราก็ต้องยิ่งขวนขวายมากขึ้น แล้วเราก็จะเจอโอกาสดีๆ

“ตอนนั้นติดตามข่าวทุกอย่าง รับหนังสือไทม์ นิวส์วีค ฟอร์จูน เป็นประจำ ซึ่งทำให้ติดนิสัยมาถึงปัจจุบัน ที่ชอบเสพข่าวมากกว่าฟังเพลงผ่อนคลาย อย่างไปสปาขอเปลี่ยนจากเพลงฟังสบายฟังรายการข่าวไปเรื่อยๆ หรือเวลาวิ่งก็จะฟังรายการวิเคราะห์เศรษฐกิจหรือดูข่าว CNBC CNN Bloomberg ไปด้วย เพราะชอบและเพลินกว่าเปิดเพลง แต่จะชอบรู้ในแบบวงกว้างภาพเศรษฐกิจมหภาค แต่จะไม่เจาะลึก ทำให้เรารู้ว่าควรเป็น Generalist มากกว่าเป็น Specialist จึงขอเรียนแค่ปริญญาโทไม่ต่อปริญญาเอก”

เริ่มต้นวางแผนบริหารเงินเพื่อเกษียณ

เธอเล่าให้เราฟังว่า เพราะเธอมีเป้าหมายในชีวิตชัดเจนว่าต้องการเกษียณจากการทำงานตอนอายุ 50 ปี เพราะรู้สึกว่าเราแต่ละคนล้วนไม่รู้ว่าเวลาชีวิตว่าจะมีมากน้อยขนาดไหน เพราะอยากใช้ชีวิตกับคุณแม่ ดูแลท่าน แล้วมองว่าสิ่งที่แม่ได้ทำให้เห็นและสอนมาเรื่องการใช้เงิน การเก็บออม เพื่อไปลงทุนต่อ นั่นเป็นวิธีการที่ทำให้แผนการดำเนินชีวิตของเราไปทีละขั้นตอนได้

เมื่อไม่ได้มีต้นทุนที่ดีกว่าคนอื่น สิ่งที่จะทำให้เรามีเงินไปลงทุนต่อได้ นั่นคือ “รายได้ที่ต้องมาจากงานประจำ” เพราะตอนนั้นไม่มีเงินลงทุน ความตั้งใจคือต้องทำงานที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดก่อน ตั้งเป้าการทำงานให้มี KPI ที่ดี การทำงานต้องสามารถเป็น Outstanding เพราะถ้ามีอาชีพที่ดี สิ่งที่เราจะได้คือความมั่นคงในอาชีพ ได้รับโบนัส ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำให้เรามีเงินเก็บได้

เน้นงานประจำ แต่ก็ไม่ลืมลงทุน

22 ปีที่ทำงานแห่งเดียวกับ KTC ระหว่างทางก็ไม่ลืมที่จะบริหารจัดการเงินและการลงทุน เธอมีหมดตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการภาษีที่มนุษย์เงินเดือนควรมีคือ การซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิตที่ต้องเปรียบเทียบแบบไหนที่ให้ดอกเบี้ยเยอะ เพราะด้านหนึ่งของประกันก็เหมือนเงินออม แบ่งเก็บเงินสด ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ด้วยการซื้อคอนโดมิเนียม โดยจะตั้งกฎของตัวเองเอาไว้ด้วยว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา แล้วไม่สามารถมีเงินไปผ่อนคอนโดฯ ได้ ตอนนั้นก็จะเป็นช่วงที่จะไม่ซื้อเด็ดขาดเพราะเท่ากับเราไม่มีเงินสำรอง ที่ปลอดภัยดีพอ แล้วก็จะใช้ทฤษฎีเดียวกับคุณแม่คือ พอมีเงินไปดาวน์แล้วก็พยายามโปะค่าคอนโดฯ ให้จบภายใน 4 ปี ด้วยการปล่อยให้คนเช่า เพื่อนำเงินค่าเช่าไปผ่อนต่อ ซึ่งถ้าผ่อนหมด ก็ค่อยไปทยอยซื้อใหม่”

ส่วนลงทุนหุ้นต้องลงต่อ เพราะบางตัวก็ค้างไว้ในพอร์ตตั้งแต่ตอนไปเรียนต่อปริญญาโทก็มี แต่ตอนทำงานไม่ได้มีเวลาศึกษารายละเอียดหุ้นเหมือนปัจจุบัน วันที่ผู้บริหารพบนักลงทุนประจำไตรมาส (ออฟเดย์) ก็ฟังแต่ของ KTC หรือจะเทียบเคียงแค่บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น พอร์ตหุ้นก็มีส่วนผสมระหว่างหุ้นที่เลือกเองเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ดี แต่อีกส่วนก็ไม่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี สารภาพเลยว่าตอนแรกเล่นหุ้นปั่นแบบ Day Trade ตามคำบอกเล่าของคนอื่น หากถือหุ้นนานเกิน 7 วัน รู้สึกเหมือนใจจะขาด

“หุ้นปั่นถ้าเข้ามาถูกตัวถือว่าจะได้ผลตอบรับที่ดีมาก อาจจะเป็นไม้แรกมีกำไร แต่ก็มีที่ขลุกขลักเพราะขายทำกำไรแล้ว แต่เกิดความโลภกลับเข้าไปเก็บใหม่ก็ทำให้บาดเจ็บ ซึ่งเอาเข้าจริงมันทำให้เสียเวลาที่ต้องมานั่งแก้ไขพอร์ต หรือเสียโอกาสทำกำไรในหุ้นอื่นไป ช่วงแรกที่ลงทุนถือว่าเป็นคนใจร้อนมาก พอได้ส่วนต่างกำไรจากราคาหุ้น (Capital Gain) โดยดูแต่มูลค่าเงินที่ได้เป็นหลักก็ขายทันที มากกว่าจะเทียบว่าได้กี่เปอร์เซ็นต์ และไม่มีหลักเกณฑ์เลยว่าจะต้องมีจุดขายตัดขาดทุน (Stop Loss) ได้แล้วก็ค่อยเข้าไปใหม่ ตอนนั้นเรียกได้เลยว่า เป็นความเข้าใจที่ผิวเผินจริงๆ ในแต่ละอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุน”

การที่เรามุ่งมั่นทำงานประจำให้ดี แต่เพราะลักษณะงานประชาสัมพันธ์ ปกติมีเวลาไม่แน่นอน มีการทำงานดึก มีงานที่ต้องทำเสาร์-อาทิตย์บ้าง บวกกับยิ่งโตขึ้นยิ่งมีภาระหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น ส่วนใหญ่อยู่แต่ในห้องประชุม ทำให้ไม่มีเวลาศึกษาเรื่องการลงทุนเป็นไปตามหลักที่ควรจะเป็น

นอกจากนั้น ยังเลือกซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนด้วย ซึ่งทำให้เรารู้ว่าการจะลงทุนซื้อหุ้นกู้ได้นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กว่าจะทำให้เราเข้าใจว่าจะเลือกวิธีซื้อย่างไรก็ต้องไปขอคำแนะนำและความรู้จากพี่ๆ ในบริษัทที่เขารู้จริงเรื่องนั้น เพราะการจะซื้อหุ้นกู้มาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ต้องมีคอนเน็กชั่นที่ดีกับแบงก์และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำอยู่แล้ว ซึ่งปกติเธอจะเลือกอายุหุ้นกู้ที่แค่ 3-5 ปี เลือกที่เรตติ้งไม่สูงมากนักเพราะอัตราดอกเบี้ยจะดี

คุมค่าใช้จ่าย เปรียบเทียบสิทธิ์เพื่อการลงทุน

การขยันอดทนทำงานหนักเพื่อได้เงินมาบริหารและลงทุนแล้ว อีกด้านหนึ่งของชีวิตคือ การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน สำหรับเธอคือการมีวินัยในการใช้จ่ายเงินมาก เพราะจะตั้งกฎให้ตัวเองชัดเจนว่า ถ้าช่วงหนึ่งมีแผนที่จะต้องซื้อสินทรัพย์อะไร การช็อปปิ้งจะหยุดลงไปทันที หรือภายใน 1 ปีจะกำหนดชัดเจนเลยว่า จะช็อปปิ้งช่วงไหนของปีและเว้นไปกี่เดือน อย่างปีนี้เธอบอกว่าได้กำหนดเวลาซื้อของช็อปปิ้งอีกทีเดือน ต.ค.ไปเลยเพราะเป็นฤดูมีโปรโมชั่นด้วย อีกทั้งระหว่างนี้เธอก็มีแผนการใช้เงินสำหรับเรื่องอื่นไว้ จึงเบรกการซื้อของตามใจชอบ และสิ่งที่เธอจะไม่ทำเด็ดขาดคือการเปลี่ยนรถบ่อย เพราะมองว่ารถเอาที่จำเป็นต้องใช้พอ เพราะรถถือเป็นสินทรัพย์อันหนึ่งที่ซื้อมาราคาก็ตกลงตั้งแต่วันแรกแล้ว

นอกจากนั้น การเลือกใช้สิทธิ์ที่ควรจะได้ก็อย่ามองข้าม เพราะอย่างบัตรเครดิตนอกเหนือจะได้แต้มบัตรสะสมแล้ว แต่ละบัตรจะมีการทำกลยุทธ์ที่สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Loyalty program) เราก็ควรต้องตรวจสอบสิทธิ์ที่เราควรจะได้ เช่น ตรวจสุขภาพ นำไปใช้บริการสปา ตัดบิลค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ท รวมถึงซื้อกองทุนรวมปัจจุบัน ก็ต้องเปรียบเทียบว่า ถ้าซื้อจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) โดยตรง กับซื้อผ่านธนาคารพาณิชย์ แม้จะเป็นกองทุนรวมประเภทเดียวกันแต่สิทธิ์และสิ่งที่ได้มีความแตกต่างกันด้วย

เป้าหมายชัด แต่ต้องรู้ว่าเวลานั้นอะไรที่สำคัญกับชีวิต

แม้เป้าหมายเกษียณของเธอทำได้ช้ากว่าที่คาด 1 ปี เพราะสุดท้ายออกจากงานประจำเมื่ออายุ 51 ปี แต่ถือว่าไม่ได้เลื่อนจากเดิมมาก และเธอยังย้ำชัดเพราะเงินจากงานประจำนี่แหละที่ทำให้เธอมีต้นทุนการใช้ชีวิตและการลงทุนได้ในระหว่างทางที่ผ่านมา แล้วก็จะนำเงินส่วนนี้มาต่อยอดให้เงินได้ทำงานเองต่อไป เพราะฉะนั้นไม่อยากให้คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือทำงานประจำมองข้ามในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่

เป็นเรื่องสำคัญมากที่ตัวเราควรต้องรู้ว่า สิ่งสำคัญในชีวิตของเราตอนนั้นคืออะไร เพราะจะทำให้ได้เราได้ตั้งใจและมุ่งมั่นกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และพร้อมเดินไปสู่เป้าหมายหลักของชีวิตคือ การเกษียณอายุออกจากงานประจำ สามารถใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างเป็นสุข และมีรายได้เพียงพอที่จะไปใช้ในอีกช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ผ่านมาเต็มอิ่มและเต็มที่กับงาน ถึงวันนี้ก็ไม่เสียใจกับสิ่งที่ได้ทุ่มเทไป เพราะแต่ละช่วงเวลาเรารู้ว่าอะไรสำคัญที่สุด แต่ถ้าที่ผ่านมาเราทำไม่ดีสักอย่าง หรือทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ผลที่ออกมาก็ไม่น่าจะดี แต่อยากให้คนทำงานประจำต้องแยกสัดส่วนให้ตัวเองดีๆ ต้องเอางานประจำให้เต็มที่ก่อน และการลงทุนเป็นส่วนเสริม สิ่งที่จะได้คือเงินเก็บที่จะลงทุน ซึ่งความเป็นจริงไม่ต้อง Aggressive มาก อย่างน้อยต้องรักษาเงินต้นให้ได้ แต่เป้าหมายเราคือเก็บเงินให้ได้มากที่สุด”

ชีวิต 1 ปีหลังเกษียณออกจากงาน

ปัจจุบันเธออายุ 52 ปี ชีวิตตอนนี้เธอมองว่า “เวลาคือสิ่งที่มีค่าที่สุด” เพราะได้ทำอะไรหลายอย่าง ได้ใช้ชีวิตอย่างสนุก ตั้งแต่เดินทางท่องเที่ยว ได้มีเวลาอยู่กับคุณแม่อย่างเต็มที่ เหมือนชีวิตเป็นอิสระ เพราะเดิมลักษณะงานอาจต้องทำหน้าที่ภายในนามองค์กร แต่ตอนนี้เหมือนได้เปิดโลกมากขึ้น ที่สำคัญคือการทำให้ไม่กลัวอะไรง่าย แถมใจพร้อมเปิดเรียนรู้สิ่งใหม่ต่างๆ โดยเฉพาะการได้ลงมือปฏิบัติศึกษาเรื่องลงทุนหุ้นอย่างจริงจัง

“วันนี้ถามตัวเองเสมอว่า ตอนนี้เรามีความสุขแล้วหรือยัง คำตอบคือใช่ ทุกอย่างเหมือนเปิดโลกใหม่และสนุกกว่าเดิม อย่างเรื่องการลงทุนหุ้นมีเวลาได้ศึกษาการลงทุนจริงจัง จากเมื่อก่อนไม่เคยดูงบการเงิน ไม่รู้เลยว่า อัตราราคาปิดต่อหุ้น (พี/อี) คืออะไร มูลค่าหุ้นดูตรงไหน เพิ่งรู้ว่าซื้อวอร์แรนต์ควรออกตรงไหน ยังงงกับตัวเองว่ารอดมาได้อย่างไร ตอนนี้มีเวลาไปฟังงานสัมมนาทั้งที่สื่อมวลชนจัด หรือทางโบรกเกอร์ แบงก์ บัตรเครดิต หรือคอร์สที่จัดอะไรขึ้นมาส่วนใหญ่ ถ้าว่างจะไปหมด เพราะมองว่าข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั่วโลกล้วนมีความเชื่อมโยงกัน จากเดิมที่ชอบเรื่องของข่าวสารอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้สนุกขึ้นไปอีก”

เธอลองสรุปชีวิตประจำวันให้ฟังคร่าวๆ ว่า เช้าทุกวันเธอจะอ่านข้อมูลในกลุ่มไลน์ที่มีเรื่องหุ้นหลายห้อง เวลา 8.30 -10.00 น. ก็จะฟัง Live เฟสบุ๊กที่มีนักวิเคราะห์วิเคราะห์ภาวะและแนะนำหุ้นของแต่ละโบรกเกอร์ พอตลาดหุ้นเปิดเริ่มเข้าไปดูหุ้นที่มีการแนะนำกันบ้าง แต่จะไม่ได้นั่งเฝ้าหน้าจอ แล้วก็จะไปคอร์สอบรมหลายอย่างถ้ามีการจองทัน เพราะมองว่า การที่มีผู้บริหารจากโบรกเกอร์ หรือ บลจ.หรือ บริษัทจดทะเบียนต่างๆ มาแนะนำกลยุทธ์ มาบอกเล่าประสบการณ์ให้ ถือเป็นการเรียนทางลัดที่เขาได้ลองผิดลองถูกมาแนะนำต่อ การที่เราฟังข้อมูลทุกวันก็เพื่อจับจังหวะการเข้าไปลงทุน พอทุกวันหลังตลาดหุ้นปิดก็พยายามสรุปเขียนเหมือนไดอารี่ว่าอะไรคือข้อผิดพลาด หรือสิ่งที่ได้จากการลงทุนครั้งนี้ แล้วอะไรคือสิ่งที่ควรแก้ไข พร้อมกับทำการบ้านแล้วเตรียมพร้อมสำหรับพรุ่งนี้ว่าจะทำอะไรกับการลงทุนหรือไม่

“คิดว่าตัวเองยังมีความรู้เรื่องการลงทุนน้อยอยู่ ก็จะพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความสนใจเหมือนกันเพราะเขาก็จะแนะนำเราควรใช้วิธีอะไรลงทุน จะทำให้เรามีแรงขับเพื่อศึกษาและทำการบ้านมากขึ้น หลายคนที่อยู่ในคอร์สอบรมเดียวกันมีอายุเพียง 30 ต้นๆ และลาออกจากงานประจำจากบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มา แต่เขาไม่ได้เลือกมาใช้ชีวิตอย่างนี้แบบไร้เหตุผล สิ่งที่เห็นคือ น้องๆ เขาทำการบ้าน อ่านหนังสืออย่างหนัก เพื่อทำให้ได้ค้นพบวิธีการลงทุนของตัวเอง มีน้องบางคนเลยว่าถ้าพี่มีเวลาอ่านหนังสือน้อยกว่า 5 ชั่วโมง ไม่ได้นะครับ ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนเลยว่า เรื่องการลงทุนควรเป็นเรื่องที่จริงจัง การลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย  และอย่ามองว่าการลงทุนเป็นแค่งานอดิเรก เพราะถ้าเรามัวคิดอย่างนั้น จะทำให้เราไม่จริงจัง ตอนนี้ก็ต้องขยันในการศึกษาลงทุนต่อ เพราะถึงอย่างไรก็เชื่อว่าไม่มีคำว่าสายเกินไป”

การลงทุนในปัจจุบัน

พอมีเวลาศึกษาหุ้นจริงจังทำให้เรารู้ว่า มีอีกหลายเรื่องที่เรารู้น้อยมาก วิธีการลงทุนก็เปลี่ยนไปเมื่อก่อนแค่หุ้นลงซื้อขึ้นขายตามมูลค่าเงินที่เราพอใจ แล้วเคยถือกว่า 10 ตัว ตอนนี้มีเวลาทำการบ้านเลือกหุ้นมากกว่าเดิม รวมทั้งตอนนี้ก่อนจะซื้อกองทุนก็จะมีการวิเคราะห์มากกว่าเดิม เพราะเพิ่งมาศึกษาว่จริงจังว่ากองทุนมีกี่ประเภท ตอนนี้ไม่ได้เพียงแค่ดูมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุนนั้นๆ ยิ่งถ้าเป็นกองต่างประเทศ ก็จะเข้าไปดูรายละเอียดกองแม่ที่บริหารกองทุน ไปดูเช็คข้อมูลที่มอร์นิ่งสตาร์หรือบลูมเบิร์ก เพราะกองทุนถ้ามีการเข้าผิดจังหวะจะใช้เวลาแก้ไขนานมาก และจะทำให้เสียโอกาสการลงทุน

“ตอนนี้ถือหุ้นยาวได้ชนิดที่ว่าถ้ามีอะไรผันผวนเข้ามาก็ไม่กังวล เพราะเลือกถือแต่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีเลือกหุ้นทั้งตัวใหญ่และเล็ก แต่ผ่านการทำการบ้านมาแล้ว เน้นเลือกที่มีปันผลดี และต้องดูจังหวะการเข้ามากขึ้น เช่น อีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีประกาศปันผล ก็จะตัดสินใจว่าจะเอาปันผลหรือจะเอาส่วนต่างกำไรตอนนั้นเลย หรือจะถือไปเรื่อยๆ แล้วถ้าจะหวังปันผลสองครั้งจะเข้าออกตอนไหน โดยเฉพาะกอง REITs หรือกองทุนโรงสร้างพื้นฐานที่มีปันผลสูง ซึ่งจะรอจับจังหวะที่ราคาลงมามากๆ เพราะจะได้สองอย่างคือกำไรส่วนต่างราคาและเงินปันผล”

แม้ว่าตอนนี้การลงทุนหุ้นจะเข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเธอมากสุด เพราะสามารถจัดเวลาและสามารถซื้อขายได้จากที่ไหนของโลก แม้เดินทางไปต่างประเทศก็ยังเทรดได้ ไม่แน่ใจอะไรก็สามารถถามน้องที่เป็นเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนได้ แต่สิ่งสำคัญสุดคือ ตัวเราเองที่ต้องเป็นเจ้านายตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ดีสุดคือ การทำการบ้านให้ดีที่สุด ปัจจุบันมีแนวคิดกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในหลายเครื่องมืออยู่แล้ว แต่อะไรที่ไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจก็จะยังไม่เข้าไปลงทุนเด็ดขาด เช่น บล็อกเทรด ตราสารอนุพันธ์

เธอมองว่า ทุกวันนี้การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งอนาคตคนไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ถ้าเรามีการวางแผนและมีการลงทุนมาตั้งแต่เด็ก เงินที่ลงทุนจะค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับเรา ทำให้เป้าหมายที่จะเกษียณอายุจากการทำงานไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ยอมรับว่าการศึกษาข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ค่อยๆ ศึกษาและยังไม่ต้องรีบเสี่ยง และถ้าเรากำลังเรียน หรือทำงานประจำไปด้วย ก็สามารถแบ่งเวลาและแบ่งเงินมาเพื่อการลงทุนได้ แต่เราควรมองว่า การลงทุนก็เหมือนเราทำอีกอาชีพหนึ่ง ที่ต้องให้เวลา และอย่าไปฉาบฉวยกันมัน ที่สำคัญคือต้องควบคุมทั้งความโลภที่จะเข้ามา หรือความกลัวที่ไม่กล้าลงทุนสักที เพราะเท่าที่เห็นไม่มีใครสามารถรวยข้ามคืนได้จากการลงทุน ทุกคนล้วนผ่านการเจ็บตัวมาก่อน และหลังจากเกษียณก็ยังสามารถวางแผนการลงทุนได้ต่อ ยิ่งทำให้เราได้ฝึกสมองป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

 “กัณฑรัตน์” อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเป้าหมายการเกษียณอายุสามารถทำได้จริง แม้อาจจะไม่สามารถใช้กับทุกคน แต่ถ้าเราลองเอาแนวคิดหรือสิ่งที่เธอทำมาปรับใช้และสร้างเป็นสไตล์หรือสูตรสำหรับตัวเอง วันหนึ่งเมื่อเราอายุ 52 เท่าเธอในปัจจุบัน ก็อาจกำลังเดินทางท่องเที่ยวที่ไหนสักแห่งของโลกนี้อยู่ พร้อมกับพอร์ตการลงทุนที่สามารถซื้อขายได้ทุกที่ทุกเวลาได้เช่นกัน