HomeUncategorized'มหากิจศิริ'จะทำอย่างไรต่อกับ TFI

‘มหากิจศิริ’จะทำอย่างไรต่อกับ TFI

ตั้งแต่ช่วงเช้านี้ 1 ส.ค. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เพิ่มเหตุแห่งการเพิกถอน เครื่องหมาย “C” กับ บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่(TFI) ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 2562 เนื่องจาก TFI แจ้งถูกฟ้องคดีล้มละลาย โดยศาลล้มละลายกลางรับคำร้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ ล.2817/2562 ซึ่งปกติหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จะต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance ที่ผู้ลงทุนต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์นั้น จนกว่าจะแก้เหตุดังกล่าวได้ โดยนักลงทุนได้มีแรงขายส่วนใหญ่เช้านี้ที่ราคา 0.10 บาท

กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กลุ่มครอบครัวมหากิจศิริ ที่ถือหุ้นรวมกันทั้งหมด 66.29 %  จากทั้งหมด 4 คน คือ น.ส.อุษณา น.ส.อุษณีย์ นายเฉลิมชัย และนางสุวิมล

สำหรับรายละเอียดของคดีความคือTFI แจ้งว่า บริษัทได้สั่งซื้อวัตถุดิบเม็ดพลาสติกจากผู้จำหน่ายต่างประเทศรายหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระค่าวัตถุดิบ เป็นจำนวนเงินประมาณ 84 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้เจรจามาเป็นลำดับ แต่ปรากฎว่าเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ก.ค. 2562 ศาลล้มละลายกลาง (ศาล) ได้ปิดหมายเรียกคดีล้มละลาย ทั้งนี้ ศาลได้รับคำร้อง โดยมีคดีหมายเลขดำที่ ล.2817/2562 เป็นหมายถึงบริษัท อันเนื่องมาจากข้อพิพาทข้างต้น โดยศาลนัดพิจารณาในวันที่ 30 ก.ย. 2562

ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยยังมีทรัพย์สินจำนวน 1,693 ล้านบาท มีหนี้สินจำนวน 1,428 ล้านบาท ซึ่งยอดหนี้สินนี้ได้รวมยอดค้างชำระคดีข้างต้นแล้ว ดังนั้น บริษัทมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน (อ้างอิง งบการเงินระหว่างกาลไตรมาสที่ 1 ปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2562) ปัจจุบันบริษัท ยังสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างปกติ ในการนี้บริษัทจะร่วมปรึกษาหารือกับทนายความ เพื่อพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

และเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ได้แจ้งกับตลท.ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท TFI ครั้งที่ 3/2562 มีมติให้บริษัทหยุดการผลิตทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ประมาณต้นเดือน ก.ย.62 เป็นต้นไป พร้อมกับปรับลดจำนวนพนักงานโดยเลิกจ้างพนักงานประมาณ 30% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดของบริษัทฯ โดยจ่ายชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.62 เพื่อให้บริษัทปรับปรุงสายการผลิตและพัฒนาการผลิตฟิล์ม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากอะไหล่เครื่องจักรบางรายการต้องสั่งทำจากต่างประเทศ โดยบริษัทจะทำการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่สามารถเริ่มการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพบางสายการผลิตก่อน และขยายไปสายการผลิตต่อไปเป็นลำดับ ซึ่งบริษัทจะปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับชนิดฟิล์มบรรจุภัณฑ์และกำลังการผลิตต่อไป

ทั้งนี้ ให้เหตุผลว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจทำให้มีการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมผู้ผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์ โดยสินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์นี้อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงด้านราคาขาย เป็นผลให้ราคาขายฟิล์มบรรจุภัณฑ์ในตลาดใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตของบริษัทอย่างเป็นนัยสำคัญ ส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทขาดทุนติดต่อกันหลายปี

หากพิจารณา ผลประกอบการ TFI ขาดทุนมา 3 ปี ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559-2561 และไตรมาส 1 ปี 2562 ก็ยังขาดทุนที่ 26 ล้านบาท เช่นเดียวกันอัตรากำไรสุทธิ  ROE และ ROA เช่นกัน ขณะที่มีสินทรัพย์รวม ณ ไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ 1,693 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,418 และส่วนของผู้ถือหุ้นยังเป็นบวกที่ 265 ล้านบาท

คำถามจากนี้ไปต้องติดตามดูว่า กลุ่มมหากิจศิริจะสามารถแก้ไขสถานการณ์กับการดำเนินธุรกิจผลิตฟิล์มเพื่อบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ TFI ได้หรือไม่ เพราะน้อยสุดที่ขอเวลาแก้ไขไลน์การผลิตก่อน ซึ่งประเมินเวลาในการปรับปรุงมากกว่า 6 เดือน แล้วระหว่างนี้ผลประกอบการของ TFI จะเป็นอย่างไรต่อไป หรือจริงๆ แล้ว ผู้บริหารมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มากกว่าการปรับปรุงการผลิตอย่างเดียวต้องรอติดตาม

เพราะนอกจากนี้ กลุ่มมหากิจศิริยังมีการถือหุ้นในหลักทรัพย์ต่างๆ ตั้งแต่ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) บริษัท โพสโค-ไทยน๊อคซ์ (INOX) บริษัท สหยูเนี่ยน (SUC) บริษัท ซัสโก้ (SUSCO) บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) บริษัท สหมิตรเครื่องกล (SMIT) และ บริษัท ไทย โอ.พี.พี. (TOPP)