ถือเป็นการยกทีมผู้บริหารมาทั้งชุดในการจัดแถลงข่าวของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC หลังจากเตรียมตัวปรับโครงสร้างธุรกิจมาเกือบ 3 ปี เพื่อเปลี่ยนจากบริษัทกลุ่มครอบครัวจิราธิวัฒน์ก้าวไปสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ที่พร้อมจะไต่อันดับ TOP 3 ของภูมิภาค
แม้ผู้ถือหุ้น ROBINS ไม่อนุมัติก็พร้อมปรับวิธีอื่นขาย IPO
“ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “ปิยะ งุ่ยอัครมหาวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน เปิดเผยว่า กระบวนทุกอย่างต้องรอผลวันที่ 5 ก.ย.ว่า ผู้ถือหุ้น บริษัท โรบินสัน (ROBINS) จะอนุมัติให้มีการแลกหุ้นกับ CRC และให้ ROBINS ออกจากตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ถือหุ้นโรบินสันไม่ได้มีการอนุมัติ ทาง CRC ก็ต้องหาแนวทางที่ต้องมีการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อไป เพราะการเสนอขายหุ้น IPO มีหลายแนวทางและวิธีการ เนื่องจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นหนทางที่ทำให้บริษัทสามารถหาพันธมิตรในประเทศและต่างประเทศได้ทั่วโลกได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่า การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นอกจากจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการะดมทุนทุนหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลายแล้ว ยังแสดงถึงความน่าเชื่อถือที่ยังจะทำให้การเติบโตได้ทั้ง 3 ส่วนที่ดีขึ้น จากปกติเติบโตแบบออร์แกนิกที่จะเติบโตกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ประมาณ 1.8-2.2เท่า ยังมองว่าจะช่วยหาพันธมิตรได้มากขึ้นเพราะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งจะช่วยให้มีศักยภาพในการทำดีลซื้อกิจการ (M&A) ได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นบริษัท 3 อันแรกในธุรกิจค้าปลีกของตลาดภูมิภาคได้ตามเป้าหมาย
CRC จะมีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่เข้าไปถือหุ้นบริษัทต่างๆ ในธุรกิจค้าปลีก โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมียื่นการทำเสนอรายการ (ไฟลิ่ง) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งปกติกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน คาดว่าน่าจะมีการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (SET) ภายในต้นปี 2563 เป็นต้นไป โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร และ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับรายได้ในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 6-7% จากปี 2561 ที่มีรายได้ประมาณ 240,297 ล้านบาท โดยเชื่อว่าแนวโน้มกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดีขึ้น ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ แม้ครึ่งปีแรกและปัจจุบันจะเหมือนมีสุญญากาศไปบ้าง
7 ทศวรรษการเติบโตจากห้างสู่ธุรกิจค้าปลีก
“ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล ได้ย้อนเล่า ความเป็นมาของเซ็นทรัล รีเทล ที่มีเส้นทางการเติบโตจากธุรกิจครอบครัว จนปีนี้เป็นปีที่ 72 หรือเริ่มต้นปี 2490 ธุรกิจค้าปลีกเล็กๆ ที่ถนนเจริญกรุงและมีการพัฒนาต่อเนื่อง จากร้านห้องแถวที่อยากพัฒนาให้ดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ขยายการเติบโตต่อเนื่องจนเป็นห้างสรรพสินค้า (Department Store) ที่มีการปรับเปลี่ยนไปอีก Format หนึ่งคือ ปี 2533 ควบรวมกับโรบินสันและมีการเปิด Format ใหม่ อย่าง ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต พาวเวอร์บาย ซุปเปอร์สปอร์ต ไทวัสดุ โฮมเวิร์ก แฟมิลิมาร์ท แล้วทำให้เริ่มก้าวสู่การเปลี่ยนผันไปจาก “Department Store” สู่ “ธุรกิจค้าปลีก”เป็นต้นมา
ปี 2535 ประกาศกลยุทธ์ขยายสาขาทั่วประเทศ จนเปิดสาขาแรกที่ จ.เชียงใหม่ จนปัจจุบันมีทั้งหมด 51 จังหวัด และก้าวสู่การเป็นยุคอินเตอร์เนชั่นแนลดด้วยการขยายไปต่างประเทศ เริ่มจากไปซื้อกิจการที่อิตาลีในปี 2554 และปี 2558 เริ่มขยายไปในประเทศเวียดนาม ซึ่งถือเป็นเสือตัวใหม่จของเอเซียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก จากจำนวนประชากรที่เยอะ จนปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกอันดับ 2 ในเวียดนาม และเป็นผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจากต่างประเทศอันดับ 1 ของเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันขยายไปถึง 37 จังหวัดที่เวียดนาม
“40ปีแรกของ CRC คือการสร้างห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่สุดในประเทศไทย จากการทำห้างสรรพสินค้าหลากหลายรูปแบบหรือหลาย Format การขยายธุรกิจไปตามต่างจังหวัดและต่างประเทศจนปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศด้วย ซึ่งเรามองเราเป็นบริษัทโกลบอลแล้ว และจากปีนี้ที่กำลังจะก้าวสู่ทศวรรษใหม่ 2020 (2563) ยุค Omnichannel หรือจำหน่ายสินค้าจากระบบออฟไลน์ที่มีการซื้อขายจากห้างสรรพสินค้าที่สามารถส่งต่อและเข้าสู่การเป็นห้างที่มีการบริการผ่านออนไลน์ ผ่านโมบายโฟนได้สะดวกมากขึ้น”
ชี้ให้ดูโมเมนตัมจาก 2 หุ้นหลังเข้า SET
“ทศ” ได้ให้ข้อมูลว่า ปี 2533 ครอบครัวจิราธิวัฒน์ได้นำบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เข้าตลาดหลักทรัพย์ ผ่านไป 29 ปีผ่านไป มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ CENTEL เติบโตขึ้น 29.1 เท่า จากมูลค่าตลาด 1,600 ล้านบาท เพิ่มเป็น 46,575 ล้านบาท ขณะที่ปี 2538 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ผ่านมา 24 ปี มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น 37.3 เท่า จาก 8,900 ล้านบาท เพิ่มเป็น 332,112 ล้านบาท และในวันนี้ เซ็นทรัล รีเทล ประกาศเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ปัจจุบันของ CRC
ปัจจุบัน CRC มีห้างสรรพสินค้า และร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีก รวมทั้งสิ้น 1,979 แห่ง ซึ่งครอบคลุม 51 จังหวัดทั่วประเทศไทย อีกทั้งยังมีสาขาในต่างประเทศที่อิตาลี และเวียดนามรวมทัังสิ้น 134 แห่ง (ณ มี.ค. 2562)
เซ็นทรัล รีเทล มี Business Unit 3 กลุ่ม (1)กลุ่มแฟชั่น ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โรบินสันไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ ซูเปอร์สปอร์ต Central Marketing Group (CMG) และรีนาเซนเต (Rinascente) (2) กลุ่มฮาร์ดไลน์ได้แก่ ไทวัสดุ บ้านแอนด์บียอนด์ เพาเวอร์บาย เหงียนคิม และ (3) กลุ่มฟู้ด ได้แก่ ท็อปส์ มาร์เก็ต ท็อปส์ เดลี่ ท็อปส์ พลาซ่า เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ แฟมิลี่มาร์ท บิ๊กซี และ ลานซี มาร์ท
You must be logged in to post a comment.