HomeUncategorizedผู้บริหารที่ชอบรายละเอียด

ผู้บริหารที่ชอบรายละเอียด

คนเราสามารถอดทนกับเวลา การต่อสู้ และคำดูแคลนกันได้กี่ครั้ง บางคนเลือกพักและหันไปทำสิ่งที่ต่างจากเดิม บางคนหยุดพักเพื่อรอสร้างกำลังใจและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และหนึ่งในนั้นคือ “บุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คัมเวล คอร์ปอเรชั่น (KUMWEL) ที่เคยถูกต่างชาติบอกถึงการผลิตสินค้าของเขาไม่ได้มาตรฐาน ในทางธุรกิจอาจจะเป็นจิตวิทยาการทำลายคู่แข่งที่ส่งผลกับเขาไม่น้อย แต่พอได้สติและการแนะนำจากลูกค้าที่เป็นมิตรการันตีในชิ้นงาน ก็พร้อมลุกขึ้นมาสู้จนปัจจุบันทุ่มงบงานวิจัยและพัฒนา (R&D) จนมีสินค้าที่เป็นมาตรฐานในธุรกิจที่เราอาจจะไม่คุ้นชิน แต่กลายเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องความปลอดภัยสาธารณะที่ทุกวันนี้เรากลับต้องมาตั้งคำถามว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่อง “ระบบการต่อลงดินและระบบป้องกันฟ้าผ่า” เพียงพอแล้วหรือยัง

วิศวกรที่พร้อมเรียนรู้

 จากที่เรียนจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้ากำลัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มต้นทำงานเป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์งานรับเหมาอาคารแต่เพียง 2 ปี ย้ายไป บริษัท ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ที่ตั้งใจไปทำงานตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า แต่กลายเป็นได้รับมอบหมายงานฝ่ายขายอุปกรณ์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนจำพวก ตลับลูกปืน แบตเตอรี่รถยนต์ เลื่อยตัดเหล็ก ซึ่งพร้อมที่จะทำเพราะก็อยากรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน

จนมีรุ่นน้องชวนไปทำงานวิศวกรรมงานรับเหมาะระบบ แต่เพราะเขาเห็นความไม่แน่นอนหากมัวทำงานรับเหมาที่ต้องรอการประมูลโอกาสน้อยมาก จึงเปลี่ยนเป็นการรับออกแบบการติดตั้งเครื่องจักรและระบบสายการผลิตให้โรงงานกับลูกค้าญี่ปุ่นเองโดยตรง ซึ่งตอนนั้นถือเป็นบริษัทคนไทยไม่กี่รายที่รับงานจากลูกค้าญี่ปุ่นโดยตรง

ลักษณะงานคือจะออกแบบระบบไฟฟ้า เครื่องกล และระบบการผลิต โดยลูกค้ามีโจทย์มาให้ว่า ต้องการอุปกรณ์แบบไหน ห้องปฏิบัติการอย่างไร เหมือนรับการออกแบบตามคำสั่งหรือออเดอร์จากลูกค้าโดยตรง เราจะนำเทคโนโลยี คน และวัตถุดิบมาผสมผสานให้เกิดการผลิตให้ได้ เพราะสำหรับเขาตอนนั้นมองว่า “การผลิตไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเทคโนโลยีที่ดีเสมอ แต่มันคือการหาจุดผลิตที่ดีที่สุดมากกว่า” ซึ่งตอนนั้นถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเพราะลักษณะการทำธุรกิจของญี่ปุ่น ถ้าหากพอใจจะมีการบอกต่อกัน

ผลิตสินค้าต้องเหมือนทำอาหารมิชลิน

จนเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองถึง “อุปกรณ์เชื่อมต่อด้วยความร้อน” (Exothermic Welding) เพื่อใช้ต่อเชื่อมสายดินเข้ากับหลักดิน ที่ปกติเราต้องใช้ในการทำงานอยู่แล้วว่า ทำไมเราไม่ผลิตขึ้นมาเอง ทำไมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นก็มีผู้ผลิตจากสหรัฐเป็นเจ้าตลาดเจ้าเดียว จึงเริ่มวิจัยและศึกษาอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนในการทำวิจัยร่วมกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) เป็นเวลา 2 ปี ถึงได้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขึ้นมา เพราะที่ผ่านมา กฟผ. ต้องนำเข้าจากสหรัฐมาใช้เช่นกัน

“ปกติการจะเริ่มทำอะไรขึ้นมาไม่ได้เป็นเรื่องยากถ้าคิดจะทำเหมือนเวลาทำกับข้าว  แต่การที่จะผลิตหรือสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาเหมือนเมนูอาหารนั้นต้องติดมิชลินสตาร์คงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ในที่สุดก็ได้รับการรองรับมาตรฐานจาก กฟผ. และกลายเป็นจุดเริ่มต้นเกิดบริษัท คัมเวลฯ ขึ้นมา”

ทว่า ความโชคดีที่ได้งานจาก กฟผ. เหมือนเป็นความโชคดีที่มีความโชคร้ายแอบซ่อนอยู่ เพราะสิ่งที่ผลิตขึ้นมาไม่สามารถนำไปใช้ได้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้ทันที เพราะการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือหน่วยงานอื่นๆ มีนโยบายเหมือนกันว่า หากจะไปติดตั้งอุปการณ์ดังกล่าวเพื่อใช้งานได้ อย่างน้อยต้องมีการติดตั้งและผ่านการทดสอบกับเขาก่อน 1 ปี ขณะที่ตลาดภาคเอกชนก็ยังมีการใช้สินค้าชนิดนี้ไม่มาก ทำให้ต้องแก้เกมด้วยการส่งไปขายตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัญหาตอนนั้นกลายเป็นโอกาสที่ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นการส่งออกสินค้าของบริษัทจนปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งไปยังอาเซียน จีน และอินเดีย ประมาณ 20%

คำดูถูกทำให้เป๋ ก่อนเป็นแรงขับให้ลุกขึ้นสู้

ขณะที่ทำธุรกิจต่อไปจนกระทั่งซีอีโอคู่แข่งที่เป็นเจ้าตลาดอย่างสหรัฐ ได้เดินทางมาพบ พร้อมสารพัดคำติเตียนต่อสินค้าของเขา และผ่านไป 4-5 เดือน ก็ออกหนังสือว่าสินค้าของคัมเวล เป็นแค่อาเซียนโปรดักส์หรืออาเซียนเวอร์ชั่น ตอนนั้นสำหรับเขาคือ สิ่งที่บั่นทอนจิตใจต่อการทำงานมาก จนนิ่งพักนานถึง 6 เดือน ถึงกระทั่งตั้งใจว่าจะเลิกผลิตไปเลย

แต่กำลังใจก้อนโตก็ได้รับการส่งต่อมาจากลูกค้ามาเลเซียและอิหร่านที่บอกเล่าประสบการณ์จากที่เคยใช้สินค้าทั้งของสหรัฐและของคัมเวล ว่า “อย่าเลิกผลิตเด็ดขาด เพราะประสิทธิภาพของคัมเวลมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับของสหรัฐมาก แม้ผู้ผลิตหรือคู่แข่งจากอังกฤษก็ยังไม่ใกล้เคียงกับของสหรัฐ อีกทั้งการที่ซีอีโอสหรัฐมาหาเอง และออกหนังสือวิเคราะห์สินค้าคัมเวลขนาดนี้ เขาไม่เคยทำกับคู่แข่งรายไหนมาก่อน นั่นแสดงว่า คัมเวลต้องผลิตได้ใกล้เคียงกับเขามากจริงๆ”

จากนั้นเขาตัดสินใจรื้อระบบไลน์การผลิตทั้งหมด และใช้เวลา 2 ปีกว่าจะเริ่มต้นพัฒนาสินค้าตัวเองให้ครบวงจรมากขึ้น เริ่มจากศึกษาหาความรู้ทางด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาตัวสินค้าอย่างจริงจัง จนทำให้เกิดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับระบบต่อลงดินและระบบป้องกันฟ้าผ่า และมีลูกค้าต่างประเทศนำไปใช้มากมาย เช่น อินเดียเอาไปใช้ในการเชื่อมรางรถไฟ และมีส่งไปที่จีน ดูไบ และยุโรปด้วย จนครั้งที่ไปออกงานแสดงสินค้าที่ยุโรป ผู้ผลิตรายใหญ่สหรัฐเจ้าเดิม ได้ส่งตัวแทนภาคพื้นเอเชียมาติดต่อซื้อหุ้นบริษัทคัมเวล แต่สุดท้ายก็ไม่ขาย เพราะคิดว่าอนาคตยังมีโอกาสรออยู่

ลงทุนแล็ปเพื่อสร้างโอกาสอนาคต

ช่วงแรกการจะผลิตสินค้าให้ลูกค้าต่างประเทศจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันมากเพราะต้องผลิตสินค้าให้ได้รับมาตรฐานตามที่ลูกค้ายึดถือ เช่น ฟิลิปปินส์ยึดมาตรฐานสหรัฐ ขณะที่มาเลเซียยึดมาตรฐานยุโรป ซึ่งตอนนั้นไม่มีมาตรฐานสากลที่สามารถอ้างอิงเหมือนกันทั่วโลกได้ จนปี 2549 มีมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์มา และปี 2553มีมาตรฐานผลิตอุปกรณ์ต่อเชื่อมลงดินและป้องกันฟ้าผ่าครั้งแรกของโลก โดยไม่ต้องอิงตามแต่ละประเทศเหมือนที่ผ่านมา

“คำว่ามาตรฐานโลกเท่ากับมาตรฐานไทย เพราะคนไทยสามารถทำมาตรฐานนั้นได้เลยไม่ต้องไปอ้างอิงจากหลายประเทศเหมือนเมื่อก่อน จึงทำให้ตัดสินใจทำห้องแล็ปเพื่อพัฒนากลุ่มสินค้าระบบต่อลงดินและระบบป้องกันฟ้าผ่าอย่างครบวงจรมากขึ้น และสิ่งที่เห็นผลชัดคือ จากเดิมเวลาผลิตสินค้าใดขึ้นมาได้ต้องนำไปทดสอบที่ต่างประเทศก่อน 1-2 ปี แต่พอมีมาตรฐานนี้การทดสอบใช้เวลาเหลือเพียง 1-3 เดือน ช่วงแรกให้มหาวิทยาลัยมาช่วยทดสอบมาตรฐาน พร้อมจ้างบริษัททดสอบจากเยอรมันมาดูสินค้าเพื่อสามารถประเมินมาตรฐานให้เลย และเป็นจนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสามารถเข้าไปยังในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าได้”

ถึงเวลากระโดดข้ามกำแพงเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ

คุยไปคุยมาเรายังถามตัวเองว่า วันนี้เราเข้าใจหรือรู้วิธีป้องกันหากเกิดฟ้าผ่ามากน้อยแค่ไหน อาคารที่อยู่อาศัยที่เราอยู่หรือไปทำงานมีระบบการป้องกันเรื่องนี้อย่างไร ทำไมบางแห่งเวลาฝนตกฟ้าร้องมักจะมีปัญหาลิฟท์ค้าง

“บุญศักดิ์”บอกว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องสายต่อลงดินและระบบป้องกันการฟ้าผ่าในเมืองไทยถือเป็นความปลอดภัยสาธารณะที่ยังมีคนเข้าใจเป็นกระบวนการหรือทั้งระบบยังน้อย และแต่ละหน่วยงานก็มีมุมมองเรื่องนี้แตกต่างกัน อีกทั้งขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน ที่สำคัญคือ ประเทศไทยไม่มีใครเก็บข้อมูลหรือมีผู้เชียวชาญด้านนี้โดยตรงเลย

เขาจึงตัดสินใจทำโครงการ Creating Shared Value (CSV) โครงการความปลอดภัยเพื่อสังคมทั่วประเทศไทยและในอาเซียน ด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ “Kumwell Academy” เพื่อแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับระบบการต่อลงดินและป้องกันฟ้าผ่า แก่เครือข่ายให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ กระทรวงต่างๆ กองทัพ โรงพยาบาล และเอกชนที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งหน่วยงานสมาคมช่าง สภาวิศวกร เพื่อส่งบุคลากรโดยเฉพาะวิศวกรแต่ละหน่วยงานเข้ามาอบรมเรื่องระบบการต่อลงดินและระบบป้องกันฟ้าผ่าอย่างจริงจัง

“จัดมา 3 ปี มีผู้อบรมใกล้หลักหมื่นคนแล้ว แต่สิ่งที่ได้มาคือ การรวบรวมข้อมูลปัญหาหรืออุปสรรคจากแต่ละหน่วยงาน จนปัจจุบันแต่ละหน่วยงานเริ่มแลกเปลี่ยนมุมมอง และพร้อมสู่การปฏิบัติมากขึ้น จากเดิมอาจจะมีการตั้งงบความเสียหายที่เกิดจากฟ้าผ่า กลายเป็นการวางแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดมากกว่า  และหลายครั้งที่วิศวกรของหน่วยงานนั้นๆ กล้าที่จะมาปรึกษาในส่วนที่ติดขัดและอยากให้ช่วยแก้ไข จนทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

เช่น การออกแบบอาคารและดูแลเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาล และอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นคือการทำบ้านสมาร์ทโฮม ที่บางครั้งจะมีการป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดจากคลื่นสนามแม่เหล็กมารบกวนในกรณีที่ห้องอื่นอาจมีเด็กมีการเล่นรถบังคับอยู่ หรือบางหน่วยงานพอให้ไปออกแบบติดตั้งให้แล้ว ก็ยังเกิดไอเดียใหม่ที่ทำให้เขาสามารถปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจและสร้างโมเดลธุรกิจขึ้นมาใหม่ที่มีความปลอดภัยกว่าเดิมได้”

แอปฯ ตรวจเช็คฟ้าผ่าที่ทุกคนใช้ได้

บริษัทเป็นภาคเอกชนที่ติดตั้งเสาตรวจจับฟ้าผ่าทั่วประเทศและทำแอปพลิเคชั่นชื่อ “Kumwell Lightning Warning” เพื่อให้คนทั่วไปได้ตรวจเช็คสภาพอากาศที่เสี่ยงต่อฟ้าผ่าแบบเรียลไทม์ เพื่อหาทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไปในบริเวณดังกล่าวได้ เพราะมองว่าเรื่องฟ้าผ่าเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้หากมีข้อมูลและความเข้าใจดีพอ เช่น เวลาออกไปทำเกษตรกรรม แม้เวลาออกไปตีกอล์ฟ หรือกิจกรรมต่างๆ ซึ่งหากขึ้นสัญลักษณ์ฟ้าผ่าเป็นสีแดง หมายถึงบริเวนนั้นเกิดขึ้นฟ้าผ่าภายใน 5 นาที สีส้มภายใน 10 นาที และสีเหลืองภาย 15 นาที ซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1,000 ครั้ง ซึ่งปกติส่วนใหญ่หน่วยงานที่ติดเสาสัญญาณเรื่องนี้จะเป็นของหน่วยงานกรมอุตุนิยมวิทยา

เป้าหมายบริษัทอายุกว่า 100 ปีเหมือนต่างประเทศ

ปัจจุบันบริษัทมี Benmark และวางมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เทียบเท่ากับ 3 บริษัทชั้นจากต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับจากลูกค้ามานาน อย่างที่อังกฤษอายุ 130 ปี สหรัฐ 120 ปี และเยอรมนี 110 ปี วิธีหนึ่งคือ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ในวันที่ 1 ส.ค. นี้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อจะรักษาคนเก่งเพราะทีมงานส่วนใหญ่ของบริษัทคือวิศวกร เราต้องทำให้เขามีความมั่นใจว่าบริษัทมีความมั่นคง มีเป้าหมาย เป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ ที่พร้อมจะรับงานจากหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะช่วยหน่วยงานเขาลดความเสี่ยงให้ได้

ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 6 อุตสาหกรรมหลัก ตั้งแต่กลุ่มการไฟฟ้า กฟผ. กฟภ. กฟน. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กลุ่มคมนาคม อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแหงประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กลุ่มการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีโอเปเรเตอร์ทั้ง 3 รายครบคือ AIS DTAC และ TRUE รวมถึงบริษัท ทีโอที กลุ่มภาคอุตสาหกรรม เช่น บริษัท ปตท. (PTT) บริษัท ไทยออยล์ (TOP) กลุ่มสิ่งก่อสร้างอย่าง เซ็นทรัลกรุ๊ป บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บริษัท ศุภาลัย (SPALI) บุญถาวร เทสโก้โลตัส  หรือแม้กระทั่งหน่วยงานความมั่นคง 3 เหล่าทัพ

ชอบลงรายละเอียดจนกลายเป็นสร้างความแตกต่าง

เขาบอกว่า ความจริงธุรกิจนี้มูลค่าน้อยและมีรายละเอียดที่ต้องทำมากมาย ตั้งแต่ไม่มีศูนย์กลางของข้อมูล ความเข้าใจในการต่อเสาลงดินหรือป้องกันฟ้าผ่าที่แตกต่างกัน ทั้งหมดต้องมาเริ่มใหม่ พร้อมใช้เวลาสื่อสารกับคนหลายอุตสาหกรรมและหลายหน่วยงาน จากการตั้งอะคาเดมีเพื่อรวบรวมคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารวมไว้ เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะกล้าบอกปัญหาหรืออุปสรรคที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขทีละจุด

คำตอบที่ได้จากผู้บริหารท่านนี้ของหัวใจสำคัญของที่นี่คือ  “การสร้างคน” (Peopleware) ปัจจุบันก็มีหลายคนที่สามารถไปทำงานที่อื่นได้แต่เขาก็เลือกไม่ไป เพราะเขามีจริตในการสื่อสารและชอบที่จะเรียนรู้รายละเอียดเหมือนกับเรา และตรงนั้นก็กลายเป็นจุดแข็งขององค์กรในที่สุด ทำให้เกิดคู่แข่งน้อย เนื่องจากพวกเราใช้เวลาเริ่มศึกษา วิจัย และรวบรวมปัญหาจากหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมากมายมาด้วยกัน จนมีห้องแล็ปอันดับแรกของอาเซียนที่ทำเรื่องนี้จริงจัง

“ตอนนี้เรามีห้องแล็บเรามีคน การเข้า mai ก็เป็นการสร้างและรักษาคนที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเขา  หลายครั้งที่มีคนมาขอร่วมทำวิจัยโครงการใหญ่ด้วยกัน แต่ไม่ได้มาขอทำงานที่นี่ เราก็เปิดโอกาส เพราะถ้าเราอยากได้คนเก่งมาร่วมงานและพร้อมที่จะรักษาคนเก่งอยู่กับเรา เราก็ต้องเปิดรับให้กว้าง เพราะความเป็นจริงคนเก่งๆ เขาจะไม่ได้เดินมาหาเราได้ง่ายๆ แต่เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าองค์กรเราเป็นอย่างไร และสามารถดึงดูดให้เขามาร่วมงานได้”

ถ้าเข้าใจและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำความกลัวจะไม่เกิดขึ้น          

ปัจจุบันผู้ชายคนนี้อายุ 60 ปี แต่ยังมองว่าชีวิตนี้เขายังไม่ได้ประสบความสำเร็จ จนกว่าภาครัฐจะมีการระบุมาตรฐานและทำเรื่องระบบความปลอดภัยสาธารณะขึ้นมาอย่างชัดเจน เพราะเขามองว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ประชาชนทั่วไปควรรู้

ตลอด 20 ปีที่ถือว่า เขาใช้เวลาตั้งไข่ในการทำธุรกิจไม่น้อย กว่าออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ในปัจจุบัน เพราะกว่าที่จะถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการตั้งห้องแล็ป ก็ใช้เวลานานถึง 7 ปี รวมแล้วเขาทุ่มเทพัฒนาห้องแล็ปมากกว่า 100 ล้านบาท โดยทุกปีบริษัทตั้งงบ R&D ไว้ 5% ของรายได้ หรือตกเฉลี่ยปีละประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยหากเทียบกับบริษัททั่วไป

ต้องถือว่าตลอดชีวิตการทำงานของผู้ชายคนนี้ไม่กลัวความแปลกใหม่ หรือสิ่งที่ไม่เคยลองทำมาก่อน เพราะมองว่าเป็นความท้าทายบ้าง หรือส่วนหนึ่งเพราะอยากแก้ปัญหา โดยเฉพาะอยากเห็นคนไทยได้มีระบบความปลอดภัยสาธารณะ เขาผ่านมาหมดแล้วทั้งในจุดที่มีการทดลองผิดพลาด โดนดูหมิ่น ดูถูกฝีมือคนไทย

แต่เขาก็สามารถพิสูจน์ให้ได้เห็นเหมือนกันว่า ตราบใดที่เริ่มมีการศึกษา มีการวิจัยรองรับอย่างจริงจัง แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาทีละขั้นตอน แม้จะเป็นรายละเอียดที่ไม่เคยมีใครได้ทำมาก่อน แต่พอถ้าเราได้ลงมือทำ ตรงนั้นก็จะเป็นพื้นที่ของเรา

“บุญศักดิ์” ได้ทิ้งท้ายให้เราได้ฟังว่า “ที่ผ่านมากว่า 20 ปี ทุกก้าวย่างของบริษัทนี้ เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีใครเก็บข้อมูลมาก่อน ขณะที่เวลาเดียวกันก็ต้องมีการทำธุรกิจไปด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่ผมทำแสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อเรามีฐานข้อมูล มีความเข้าใจและมีความมุ่งมั่นในสิ่งที่จะทำแล้ว เราจะไม่มีความกลัวเกิดขึ้น เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันคืออะไร ที่สำคัญเราเป็นทำและพัฒนาขึ้นมาเองจากองค์ความรู้ ไม่ใช่เป็นการยืนบนขาของคนอื่น ดังนั้น ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องไปกลัวผู้อื่น”

...แล้วเราเชื่ออย่างนั้นหรือไม่ว่า ถ้ามีองค์ความรู้ มีความมั่นใจ มีความมุ่งมั่น และลงมือทำด้วยตัวเอง จะมีอะไรต้องไปกังวลหรือกลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกเล่า…