HomeOn RadarsSCCพลิกกลยุทธ์สร้างกำไร PTTEPซื้อเมอร์ฟี่หนุนโตยาว SCCพลิกกลยุทธ์สร้างกำไร PTTEPซื้อเมอร์ฟี่หนุนโตยาว บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แถลงข่าวผลประกอบการยอดขายไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและลดลง 3% จากไตรมาส 1 และครึ่งปีแรกยอดขายอยู่ที่ 2.21 แสนล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 2 ทำได้ 7,043 ล้านบาท ลดลงถึง 43.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 18,706 ล้านบาท ลดลง 24.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ผลประกอบไตรมาส 2 และครึ่งแรกของปี 2562 ของบริษัทลดลงทั้งในส่วนยอดขายและกำไร สาเหตุมาจากหลายปัจจัยตั้งแต่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้ราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับลดลงถึง 20% ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และการที่บริษัทต้องเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานสำรองคนที่เกษียณอายุ ลดเป้ายอดขาย ประเมินยอดขายปี 2562 จะลดลง 9-10% เป็นการลดเป้าจากเมื่อต้นปีได้คาดว่ายอดขายปีนี้น่าจะเติบโตจากปีก่อนได้ 5-10 % แต่ตอนนี้สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนต่อการดำเนินงาน ขณะที่ปริมาณการขายสินค้าครึ่งปีแรกก็คงที่ ทำให้มองว่าครึ่งปีหลังการดำเนินธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทายต่อไป อีกทั้งในครึ่งปีหลังธุรกิจปิโตรเคมียังมีรายใหม่เพิ่งเข้ามาอีก (ซัพพลาย) ประกอบกับรอบของธุรกิจปิโตรคมี 6-7 ปี แล้วก็เป็นขาขึ้นมาสักพัก ทำให้มองว่าช่วง 1-2 ปีนี้ต้องรอให้ดีมานด์กับซัพพลายปรับตัวสมดุลกัน ทิศทางธุรกิจซีเมนต์ ในประเทศทั้งปีคาดว่ายอดขายจะเติบโตได้ 3-4 % จากครึ่งปีแรกที่โต 3% เนื่องจากเป็นผลที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากโคงการภาครัฐ แต่สำหรับตลาดซีเมนต์สำหรับที่อยู่อาศัยคาดว่าจะยังคงต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปีจึงจะเห็นการขยายตัว ซึ่งทำให้มีผลต่อตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศที่ยังอยู่ระดับทรงตัว ท่ามกลางตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่ตลาดซีเมนต์ในอาเซียน ยังเห็นการเติบโตทั้งในกัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม แต่ที่อินโดนีเซีย ชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปัจจัยลบ อันดับแรกยังเป็นสงครามการค้าสหรัฐกับจีนที่ไม่รู้จะกลับมีประเด็นอีกเมื่อไร ขณะที่น้ำหนักเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐกับอิหร่านก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะจะถือเป็นความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจระดับโลกขึ้นไปอีก ปรับกลยุทธ์ ตอนนี้ SCC ต้องทำให้ตัวเบาที่สุด การคำนึงถึงการสร้างเสถียรภาพทางการเงินที่ต้องมีการบริหารจัดการสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีกระแสเงินสดภายใต้การบริหารอยู่ที่ 42,573 ล้านบาท ที่สำคัญ SCC ได้ทบทวนแผนโครงการลงทุนปีนี้ ลดลงจาก 85,000 ล้านบาท เป็น 70,000-75,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกใช้เงินลงทุนไปแล้ว 39,000 ล้านบาท และหนึ่งในนั้นคือการซื้อหุ้น 55% Fajar ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียกว่า 20,000 ล้านบาท ที่จะเริ่มรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3 ซึ่ง Fajar มียอดขายราว 20,190 ล้านบาท และมีกำไรประมาณ 3,100 ล้านบาท “นอกจากชะลอพัฒนาโครงการใหม่เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมา แต่ยังเดินหน้าซื้อกิจการที่ดีและสร้างผลตอบแทนกลับมาได้รวดเร็วต่อเนื่อง เพราะจะทำให้ช่วยสร้างกระแสเงินสด และสามารถรับรู้กำไรได้ทันที บริษัทยังเน้นโฟกัสที่ในการลงทุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหลายอย่างเพื่อสร้างผลตอบแทนคืนกลับมาให้บริษัทได้ตรงจุดมากที่สุด เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน อย่างการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าได้แล้ว 77 เมกะวัตต์ (MW) ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าจากภายนอก ช่วยประหยัดได้ 350 ล้านบาท/ปี หรือการเพิ่มโอกาสแม้สงครามการค้าจะมีน้ำหนักค่อนข้างมากต่อการดำเนินงานอยู่ แต่ SCC ได้ขยายตลาดไปยุโรปและสหรัฐมากขึ้น ขณะที่ตลาดในจีนชะลอตัวลง ก็จะหันไปขยายตลาดอาเซียนที่ยังเติบโต” โครงการลงทุนสำคัญที่เดินหน้าต่อ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ที่ปัจจุบันคืบหน้าแล้ว 15-16% ก็จะเร่งให้แล้วเสร็จตามแผนในปี 2566 การขยายกำลังการผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ในไทย จะแล้วเสร็จในปี 2564 และการขยายโรงงานกระดาษในฟิลิปปินส์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) แจ้งผลประกอบการครึ่งปีแรก “พงศธร ทวีสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมในครึ่งปีแรก จำนวน 3,001 ล้านดอลลาร์สรหัฐ(เทียบเท่า) เพิ่มขึ้น 17 % จาก 2,562 ล้านดอลลาร์สหรัญ (เทียบเท่า 81,343 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.26 แสนบาร์เรลต่อวัน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 2.97 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากการเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเติมในแหล่งบงกช ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 47.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จาก 45.51 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรลเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปี 2562 ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 827 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 26,163 ล้านบาท) สูงขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ. (เทียบเท่า 16,971 ล้านบาท) โดยต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 30.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งอยู่ในระดับที่บริษัทคาดการณ์ไว้ ผลประกอบการของไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 433 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 13,684 ล้านบาท) จาก 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 3,590 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากปัจจัยบวกจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้มีกำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (non-recurring items) รวม 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับการรับรู้ขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติรวม 223 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 2 ปี 2561 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง หลังซื้อกิจการเข้าซื้อกิจการเมอร์ฟี่ ออยล์ เสร็จต้นเดือน ก.ค. ส่งผลให้บริษัทรับรู้ปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 48,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณการขายเฉลี่ยเป็นไปตามเป้าหมายของปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 3.45 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน “แผนงานจากนี้ไป ปตท.สผ. จะให้ความสำคัญกับเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ (Transition of Operations) ให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยในส่วนโครงการที่ได้จากการเข้าซื้อกิจการของเมอร์ฟี่ฯ ในประเทศมาเลเซียนั้น บริษัทได้ตั้งทีมงานขึ้นโดยเฉพาะเพื่อดูแลเกี่ยวกับการโอนการดำเนินงาน สำหรับ แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ซึ่ง ปตท.สผ. ชนะการประมูลนั้น อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ดำเนินการปัจจุบันของแปลง G1/61 เรื่องการประสานงานเพื่อเข้าพื้นที่ภายในปีนี้ เพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถวางแผนการลงทุนล่วงหน้า เช่น การติดตั้งแท่นและหลุมเจาะที่จะใช้ในปี 2565 เมื่อบริษัทเข้าเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง” นายพงศธร กล่าว Share this:FacebookX
You must be logged in to post a comment.