“พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง เปิดเผยว่า จะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) วันที่ 22-26 และ 30-31 ก.ค. 2562 ด้วยมูลค่าเงินลงทุนครั้งแรกไม่เกิน 8,150 ล้านบาท แบ่งเป็น IPO ไม่เกิน 5,150 ล้านบาท (จากราคาเสนอขาย 10 บาท/หน่วยลงทุน ที่จำนวนหน่วยลงทุนไม่เกิน 515 ล้านหน่วย) และอีกไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เป็นการกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน
- SUPEREIF จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยกองทุนบัวหลวง ซึ่งปัจจุบันบริหารจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีจำนวนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 4 กองทุน (รวมกองทุนนี้) จากทั้งหมด 8 กองทุนในอุตสาหกรรม โดยมี บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กว่า 700 เมกะวัตต์ และเป็นบริษัทแม่ของผู้ขายทรัพย์สินกลับเข้ามาทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์อีกด้วย และ SUPER ยังตกลงที่จะถือหน่วยลงทุนในกองทุนนี้ในสัดส่วนขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดในช่วงระยะเวลา 12 ปีแรก ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกชั้นหนึ่งด้วย
“กองทุนนี้ออกมาสอดคล้องกับธีมลงทุนของกองทุนบัวหลวงในปีนี้ ที่ว่า รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์ เนื่องจากเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กองแรกในประเทศไทย มองว่า SUPEREIF เป็นกองทุนที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว อีกทั้งสามารถลงทุนได้ตลอดทุกช่วงวัฎจักรเศรษฐกิจ (STAYING INVESTED THROUGH ALL MARKET CYCLES) ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตมากหรือน้อยเพียงใด ไฟฟ้าก็มีความจำเป็นกับชีวิตประจำวัน อีกทั้งทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญกับการหันมาใช้พลังงานสะอาด จึงเป็นกิจการที่มีรายได้มั่นคง มีศักยภาพเติบโตได้”
- ปัจจัยสนับสนุน เพราะปัจจุบันภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ลงทุนมีสินทรัพย์ทางเลือกในการลงทุนมากเพราะ SUPEREIF จัดอยู่ในกลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่เผชิญกับความผันผวนของตลาดค่อนข้างน้อย และนักลงทุนคาดหวังในเรื่องความแน่นอนและความมั่นคงของรายได้แน่นอน อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
- “จอมทรัพย์ โลจายะ” ประธานคณะกรรมการ SUPER กล่าวว่า นักลงทุนมีโอกาสรับรายได้ที่สม่ำเสมอ มั่นคง เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง 19 โครงการ ที่บริษัทขายสิทธิในการรับโอนรายได้สุทธิให้กับกองทุน SUPEREIF มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ด้วยราคาคงที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ตลอดระยะเวลาสัญญาซื้อขายโดยมีอายุสัญญาเฉลี่ยคงเหลือประมาณ 21-22 ปี อีกทั้งกองทุนยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีก จากการที่บริษัทอาจพิจารณานำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งอื่นๆ ขายเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต
“โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 19 โครงการ ที่กองทุน SUPEREIF จะเข้าลงทุนในรายได้สุทธินั้น มีกำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 6 ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดที่บริษัทดูแลอยู่เท่านั้น ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะพิจารณานำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งอื่นๆ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วขายให้กองทุนนี้เพิ่มเติมตามช่วงเวลาที่บริษัทมีแผนระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติม
- ปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 3,000-4,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทุกประเภท ทั้งนี้ ภาครัฐบาลตั้งเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเป็น 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ดังนั้น พลังงานแสงอาทิตย์ย่อมมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคตเพราะเป็นพลังงานสะอาดที่ต้นทุนถูกที่สุด
ข้อมูลกองทุน SUPEREIF
- กองทุน SUPEREIF จะลงทุนครั้งแรกในสิทธิรายได้สุทธิที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 19 โครงการ กำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์ ของ บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด (17AYH) และบริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) หรือ HPM โดย SUPER ถือหุ้น 99.99% ในทั้ง 2 บริษัทนี้ สำหรับระยะเวลาโอนสิทธิรายได้สุทธิจะเริ่มตั้งแต่วันที่กองทุนเข้าลงทุนในทรัพย์สินสำเร็จ จนถึงวันที่ 26 ธ.ค. 2584 หรือประมาณ 22 ปี
- นโยบายจ่ายเงินปันผล จะจ่ายไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง เว้นแต่ปีแรกและปีปฏิทินสุดท้ายของการลงทุนของกองทุนฯ กองทุนบัวหลวงจะพิจารณาจำนวนครั้งของการจ่ายตามความเหมาะสม โดยคาดว่าอัตราเงินจ่าย (เงินปันผล และเงินคืนทุน) ในรอบระยะเวลาการลงทุน 12 เดือนแรกของ SUPEREIF จะอยู่ที่ประมาณ 7.49% นอกจากนี้ ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อได้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ใน 10 ปีภาษีแรกนับตั้งแต่วันที่กองทุนจัดตั้งสำเร็จอีกด้วย
- มีกองทุนบัวหลวงเป็นบริษัทจัดการ ธนาคารกรุงเทพ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่าย (อันเดอร์ไรท์เตอร์) ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์
- จำนวนหน่วยลงทุนขั้นต่ำของการจองซื้อ 2,000 หน่วย ทวีคูณ 100 หน่วย สถานที่จองซื้อ คือ ธนาคารกรุงเทพ ทุกสาขา ยกเว้นสาขาไมโคร
- การจัดสรรหน่วยลงทุน สำหรับผู้จองซื้อทั่วไป จะเป็นแบบ Small Lot First คือให้ผู้ที่จองซื้อจำนวนน้อยได้สิทธิการจองซื้อได้ก่อน ส่วนการประกาศผลการจัดสรรหน่วยลงทุน อย่างเร็วสุด คือ ภายในวันที่ 2 ส.ค. 2562