HomeUncategorizedผู้บริหารที่มีโรนัลโด้เป็น Role Model

ผู้บริหารที่มีโรนัลโด้เป็น Role Model

การเปลี่ยนบริบทตัวเองในการทำงาน คงไม่ต่างกับการเพิ่มความท้าทายและสร้างโอกาสให้ตัวเองใหม่ และมีให้เห็นอยู่กันทั่วไปในทุกอุตสาหกรรม สำหรับ “เผดิมภพ สงเคราะห์” ผู้ชายที่อยู่ในแวดวงตลาดทุนมากว่า 26 ปี จุดเริ่มต้นของการก้าวย่างไม่ได้ง่าย ต้องอาศัยความพยายามและอดทนเป็นที่ตั้ง

จนเป็นคนหนึ่งที่ถือว่าได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักอย่างต่อเนื่องในวงการนี้ จากจุดเริ่มต้นเป็นพนักงานแบงก์ สู่อุตสาหกรรมตลาดทุนฐานะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ตามด้วยเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน และก้าวเข้าสู่ระดับผู้บริหารถึงปัจจุบัน เป็นโบรกเกอร์ลำดับที่ 5 ด้วยตำแหน่ง ประธานสายธุรกิจรายย่อย กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย)

เส้นทางสู่ตลาดหุ้น

เขาเป็นอีกคนที่สมัยนิยมต้องเลือกเป็นวิศวกรหรือหมอ โดย 4 อันดับแรกตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยคือวิศวกรรมศาสตร์ แต่เขาติดอันดับ 5 คณะเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนเป็นความพลิกผันของชีวิตที่ทำให้กลายเป็นเส้นทางหลักในอนาคตจนถึงทุกวันนี้

ตอนนั้้นชอบเรียนวิชาโทด้านบัญชีจนได้เกรด A  มากกว่าวิชาหลักที่ได้ C เพราะชื่นชอบตัวเลข อีกทั้งมีอาจารย์ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างแรงบันดาลใจจนฝันว่า สักวันต้องมาวงการตลาดหุ้นไทยในฐานะนักวิเคราะห์ให้ได้

อุปสรรค์ช่วงนั้น คือ นักวิเคราะห์ต้องมีวุฒิเรียนปริญญาโทเท่านั้น ทำให้เขาต้องเริ่มทำงานจากสายแบงก์ก่อนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ด้านฝั่งเงินฝาก ธนาคารกรุงเทพดูแลฝั่งเงินกู้ดูแลเรื่องปล่อยสินเชื่อ อยู่ที่ละ 1 ปี จนมาเรียนปริญญาโท บริหารธุรกิจ (การเงิน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นเดิม เพื่อเป็นบันไดก้าวสู่การเป็นนักวิเคราะห์ ระหว่างนั้นก็ได้เป็นอาจารย์การสอนวิชาบัญชีปริญญาตรีไปด้วย ซึ่งกลายเป็นเวทีทำให้ได้ฝึกพูดการแนะนำเป็นอย่างดี ส่วนผลที่ได้จากการทำงานแบงก์ คือ ทำให้ได้รู้จักดูแลลูกค้าและเมื่อย้ายมาสายตลาดทุนก็สามารถไปแนะนำกับลูกค้าเก่าได้

นักวิเคราะห์-มาร์เก็ตติ้ง-ผู้บริหาร

เริ่มทำงานนักวิเคราะห์ครั้งแรกที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) เอกชาติ เมื่อปี 2536  สโคปงานวิเคราะห์กลุ่มแบงก์ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนาดเล็ก การที่มีนักวิเคราะห์เพียง 3 คน จึงนำจุดได้เปรียบที่เรียนด้านบัญชีมา ผูกสูตรกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์สมัยนั้น ทำให้เขาขยายการวิเคราะห์ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงเป็นนักกลยุทธ์ที่ดูแลเทคนิคการลงทุนด้วย

ที่สำคัญคือ เป็นจุดเริ่มต้นเริ่มโฟนอินทางโทรศัพท์ภาวะตลาดหุ้นของสถานีโทรทัศน์ไทสกาย ซึ่งตอนนั้นไม่ได้มองว่าเป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น และกลับมองว่าเป็นความท้าทายและโอกาสที่เข้ามามากกว่าว่าได้ทำสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเพียงแค่อะไรที่ทำเกี่ยวกับหุ้นนั่นคือ ชอบหมด

3 ปี สำหรับการเป็นนักวิเคราะห์จนสู่การเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) สมัยก่อน เทียบปัจจุบันคือเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน (IC) และก้าวสู่การเป็นผู้จัดการสาขาของ บงล.นวธนกิจ ประจำสาขาที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ด้วยอายุก่อน 30 ปี สำหรับเขาและในอุตสาหกรรมตอนนั้นถือว่าเป็นระยะเวลาที่เร็วมาก

“เมื่อมีพื้นฐานเป็นนักวิเคราะห์ นักกลยุทธ์มา นอกจากจะให้ลูกน้องมาเช้าเพื่อมาประชุมข่าวเช้า เราเองจะต้องแลกเปลี่ยนกับนักวิเคราะห์เสมอด้วย ไม่ใช่แค่ฟังพวกเขาอย่างเดียว และจุดที่ทำให้ตัวเราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะได้ถ่ายสดรายงานภาวะตลาดหุ้นจากห้องค้าหลักทรัพย์ตลอด 5 วัน กับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยมองเป็นโอกาสในการหาลูกค้าทางอ้อมด้วย เพราะการที่คนเห็นเรามากขึ้น รู้จักเรามากขึ้น ก็มีโอกาสมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นมาร์เก็ตติ้งยังไม่มีการทำไลเซนต์”

จนกระทั่ง ‘กรณ์ จาติกวาณิช’ ชวนไปอยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม เมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี 1999 หน้าที่และความรับผิดชอบคือดูแลมาร์เก็ตติ้งที่สำนักงานใหญ่ด้วย ควบคู่ไปกับการดูแลสาขางามวงศ์วาน ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ได้รู้จักกับ ‘บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.หยวนต้าฯ  ในปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นคือบริษัทเงินทุนนิธิภัทร

หลังจาก เจเอฟฯ ขายบริษัทจนเป็น บล.บัวหลวง ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลมาร์เก็ตติ้งทั้งทีม และถือเป็นเรื่องดีที่ไม่ได้มีแรงต่อต้านจากทีม เพราะก่อนหน้านี้มีโอกาสรู้จักพนักงานแต่ละสาขา จากที่เดินทางไปพูดงานสัมมนาในห้องค้าแต่ละสาขาต่อเนื่องอยู่แล้ว และอำลาตำแหน่งที่นั่นด้วย รองกรรมการผู้จัดการ

3 โบรกเกอร์ชั้นนำ

‘เผดิมภพ’ บอกว่า สิ่งที่ยากสำหรับที่ บล.บัวหลวง นั่นคือ การต้องรักษาฐานคนที่มีอยู่เดิมด้วยและการเพิ่มคนให้มาทำงานด้วยกัน พอมีโอกาสย้ายมาทำตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล ที่ บล.กสิกรไทย ตามคำเชิญชวนผู้ใหญ่ จาก ‘ณัฐรินทร์ ตาลทอง’ ซีอีโอตอนนั้น และหน้าที่ได้รับหมายเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือ ต้องมาสร้างมาร์เก็ตติ้งใหม่ พร้อมกับสร้างฐานลูกค้า

ขณะที่ล่าสุดที่เพิ่งย้ายเริ่มต้นทำงาน ที่ บล.หยวนต้า ตั้งแต่ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นั่นคือ การเผชิญความท้าทายครั้งใหม่คือ การเป็น บล.ที่เพิ่งตั้งมาเพียง 2 ปี และมีความเป็นโกลบอลมากขึ้นเพราะมีบริษัทแม่ที่ไต้หวัน

 “สิ่งที่หยวนต้ามีดีอยู่แล้วคือ บุคลากร แอปพลิเคชั่น และการมีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม แต่ต้องพยายามขับเคลื่อนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น นั่นคือ การสร้างแบรนด์ ตอนนี้เหมือนกำลังจัดบ้านใหม่ โจทย์สำคัญคือ การพัฒนาของเดิมที่มีอยู่แล้วที่จะทำอย่างไรสามารถต่อยอดให้ดีขึ้นกว่าเก่า ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี”

คริสเตียนโน่ โรนัลโด้ คือ Role Model

คำตอบที่จากผู้บริหารวัย 52 ปี คนนี้ เมื่อถามว่าวางเป้าหมายอนาคตสำหรับตัวเองอย่างไรต่อ คำตอบที่ได้มาคือ ตอนนี้ เขามี Role Model คือนักฟุตบอลชื่อดัง ‘คริสเตียนโน่ โรนัลโด้’ วัย 34 ปี ที่คว้าแชมป์ลีกท็อป 3 ของโลกคนแรก คือ ทีมแมนยูของอังกฤษ ทีมรีลมาดริกของสเปน และยูเวนตุสของอิตาลี

“ตอนนี้มี Top of Mind และเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานคือโรนัลโด้ เพราะเขาสามารถอยู่ในทีมที่เป็นแชมป์ถึง 3 ทีมและอยู่กันคนละประเทศ ถ้าเปรียบคือ เราได้ก้าวขึ้นมาทีละสเตปในการอยู่โบรกเกอร์แต่ละแห่งประมาณ 10 ปี  และการที่ได้มีโอกาสมาอยู่โบรกเกอร์ชั้นนำซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์ มีรูปแบบการบริการที่มีฐานลูกค้า และเป็นหนึ่งในใจลูกค้าไม่น้อย ซึ่งก็หวังว่าเมื่อมีโอกาสมาก็น่าจะทำให้หยวนต้ามีบทบาทหรือสร้างอิมแพ็กในอุตสาหกรรมได้เหมือนกับโรนัลโด้ที่ได้สร้างตำนานไว้”

ตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปีนี้ หยวนต้าต้องมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) และกำไรสุทธิเป็นที่ 1 ของตลาด และที่สำคัญคือ ต้องเป็นโบรกเกอร์ที่อยู่ในใจลูกค้าให้ได้ ที่หากนักลงทุนคิดจะลงทุน ต้องมีชื่อหยวนต้าอยู่ในนั้น

คนตลาดทุนต้องเก่งเรื่องงาน คน & ซื่อสัตย์

เขาฉายภาพให้เห็นว่าตลอด 26 ปีของการทำงาน และได้เห็นวงจรของคนที่เข้ามาแล้วก็จากไปมีอยู่มากมาย สิ่งสำคัญและควรยึดหลักซึ่งความจริงอาจจะไม่ได้แตกต่างจากวิชาชีพอื่น นั่นคือ “การเก่งเรื่องงาน” “เก่งเรื่องคน” และ “ต้องมีความซื่อสัตย์” แม้หลักการที่ว่าจะดูเหมือนง่าย แต่ขั้นตอนในการปฏิบัติจริงถือว่ายากมาก และหลายคนมักจะตกม้าตายหากไม่สามารถประคอง 3 ส่วนนี้ไว้ได้ โดยเฉพาะด้านความซื่อสัตย์ที่ทำให้คนอยู่บนเส้นทางนี้ไม่ได้ยาว เพราะมีการแฝงประโยชน์ในการแนะนำต่อผู้ลงทุน บางคนเก่งในการวิเคราะห์แม่นยำ ตรงกับสถานการณ์แต่ไม่สามารถดูแลลูกค้าได้ บางคนทั้งเก่งและดูแลลูกค้าดี แต่ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ลูกค้า หรือองค์กร ตกลงอะไรแล้วไม่สามารถทำได้อย่างที่พูด ก็ต้องเดินออกจากวงการนี้ไป

 นอกจากนั้น ยังต้อง “รักษาความสมดุลและดูแลเรื่องผลประโยชน์ของ 3 ส่วนให้ได้ คือ ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัท พนักงานหรือลูกน้อง และลูกค้า” เพราะถ้าเราหย่อนด้านใดด้านหนึ่งไป และทำให้ด้านใดด้านหนึ่งเสียผลประโยชน์ หรือทำแบบที่มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เสมอ มักจะไม่ได้อยู่ในวงการนี้อย่างยั่งยืน

“ทุกชีวิตการทำงาน ย่อมมีความผิดพลาดกันได้ แต่ตลอดที่ทำงานมา แนะนำหุ้นที่ผิดพลาดหรือมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ผิดพลาดไปบ้าง ถึงวันนี้ยังไม่เคยมีมาต่อว่าการทำงานอย่างจริงจัง ซึ่งคิดว่าเพราะเราทำงานบนหลักของความซื่อสัตย์ที่มีกับคนที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ส่วนนี้มาเสมอ แต่ สิ่งนี้ไม่สามารถสร้างได้ภายใน 5 ปี ผมใช้เวลาพิสูจน์มาตลอดทั้งชีวิตการทำงาน และถ้า 3 ส่วนนี้สามารถตอบโจทย์ความท้าทายและให้การตอบรับที่ดีเสมอ ก็พร้อมที่จะเผชิญความท้ายทายใหม่ไปด้วยกัน เพราะเท่ากับว่าเขาเห็นคุณค่าในตัวเรา ดังนั้น เราก็พร้อมที่จะทำงานให้มีความสุขและสนุกไปด้วยกันกับทีม”

การทำหน้าที่เกินที่ได้รับมอบหมายเป็นเรื่องที่ดี

เขาย้อนอดีตให้ฟังว่า ตั้งแต่เวลาเรียนความจริงเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ชอบที่เรียนแล้วมาสรุปวิเคราะห์ แล้วมาประยุกต์ใช้เองเป็นหลัก ดังนั้นจะชอบทำอะไรหลายๆ ที่ได้เรียนรู้ในมุมกว้างก่อนแล้วค่อยลงลึกรายละเอียด และมักเลือกทำตามความชอบก่อนเสมอ โดยไม่ได้คิดว่าทำแล้วตัวเองจะได้อะไร จึงมักจะมีโอกาสได้ทำงานเกินหน้าที่ ที่ได้รับหมอบหมายเสมอ เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้งานมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ดูด้วยว่าไม่ได้เป็นการเข้าไปเพิ่มภาระหรือสร้างผลกระทบให้กับคนอื่น

“ตั้งแต่ทำงานธนาคาร ดูเงินฝากและสินเชื่อ มักจะไปช่วยพี่ๆ นับเงินตรงเคาน์เตอร์ คอยบริการลูกค้าที่มาใช้บริการในแบงก์ แต่สิ่งที่ได้มาคือทำให้ได้รู้จักลูกค้าจนขยายมาสู่วงการตลาดหุ้น หรือตอนที่มาเป็นนักวิเคราะห์ก็คอยเพิ่มทักษะเพื่อสามารถวิเคราะห์หุ้นได้ในหลายอุตสาหกรรม จนมาเป็นแนะนำเทคนิคการลงทุนแบบมีกลยุทธ์ เพราะรู้จุดแข็งของตัวเองในการมาผูกสูตรคำนวณ ที่ทำให้วิเคราะห์งบการเงินและช่วยการทำงานได้มากขึ้น การได้โฟนอินออกรายการโทรทัศน์ การได้เขียนบทความออกสื่อต่างๆ จนถึงทุกวันนี้ก็พร้อมที่จะทำงานอื่นๆ เพิ่ม โดยมองว่าเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้มากกว่าภาระที่เพิ่มขึ้น”

นักวิเคราะห์-มาร์เก็ตติ้งไม่หายไป

เขามองว่า อาชีพในตลาดทุนก็เหมือนอีกหลายอาชีพที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน แต่ “ตลาดทุนคือโลกของวิทยาศาสตร์&ศิลปะ” การที่โรบอทเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ผู้ลงทุน ไม่ได้แปลว่า นักวิเคราะห์หรือเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนจะหายไปจากอุตสาหกรรม ผลกระทบนั่นคือปริมาณที่จะลดลงเหมือนอาชีพอื่นๆ ซึ่งยังแปลไปตามหลักของดีมานด์และซัพพลาย หรือเค้กของอุตสาหกรรม และถ้าคนที่ไม่มีการปรับตัว ในที่สุดก็ต้องออกจากวงการนี้ไป 

“โรบอทเข้ามาช่วยในการคำนวณหรือดูพอร์ตให้และสามารถสร้างกำไรได้แค่เพียงช่วงแรกมันคือหลักวิทยาศาสตร์ในการเขียนโปรแกรม แต่คนมักจะมีศิลปะมาเพิ่มการต่อสู้กลับมาปรับสูตรแก้ไขเพื่อป้อนสูตรใหม่ให้กับโรบอทอีก เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงเราทั้งหมด แต่เราต้องดูตัวเองด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของมากน้อยขนาดไหน และสามารถดูแลผลประโยชน์เจ้าของ ลูกน้อง และลูกค้าได้สุดความสามารถแล้วหรือยังด้วย”

แตะความสำเร็จแล้ว แต่ยังไม่คิดเกษียณจากหุ้น

ปัจจุบันเขาอายุ 52 ปี และยืนยันหนักแน่นว่า ยังไม่มีเป้าหมายที่จะเกษียณออกจากอาชีพนี้ เพราะรักในอาชีพนี้มาก ขณะที่ผ่านมาได้รักษาความสมดุลระหว่างงานและครอบครัวได้เป็นอย่างดีมาตลอด และนานมากแล้วที่ไม่ได้เอางานกลับไปทำที่บ้าน

ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือครอบครัว สิ่งสำคัญที่เขาเลือกยึดถือนั่นคือ “ความซื่อสัตย์” รวมทั้งการคิดแบบ MI อะไรที่คิดว่าใช่แล้วก็คือใช่ แล้วก็ลงทุนไปกับมันเต็มที่ ชีวิตคู่ของผมกับภรรยามีความซื่อสัตย์ต่อกันมาก ต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเอง  ภรรยาผมเป็นแม่บ้าน เขาก็ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีในการดูแลชีวิตประจำวันของสามี ผมก็ต้องทำหน้าที่สามีให้เต็มที่ในฐานะผู้นำครอบครัว และโชคดีที่ไลฟ์สไตล์ของเราเหมือนกันคือ ไม่ค่อยฟุ้งเฟ้อ มีชีวิตที่เรียบง่าย วันว่างใช้ชีวิตชาวสวนและเปิดร้านกาแฟที่สมุทรสงคราม ตอนที่มีรายได้น้อยแต่ต้องกู้เงินซื้อบ้านราคาเป็นล้านบาท ก็ใช้หลัก “แม้มีรายได้น้อยแต่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า” จากที่ต้องผ่อนส่งกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ก็โปะต่อเดือนไป 3-4 เดือน ไม่กี่ปีก็หมด

“ที่ไม่เคยคิดเกษียณออกจากวงการหุ้นเลย เพราะนานมากจนถึงปัจจุบัน เราสามารถรักษาสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัวได้มาเป็นอย่างดีตลอด ก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวที่ตอนนี้ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายตัวเองได้ว่าจะเกษียณอายุงานเมื่อไร”

…นี่อาจจะเป็นตัวอย่างความขวยขวายและการอดทนเพื่อการคงอยู่ในสายอาชีพตลาดทุนได้อย่างยาวนาน และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ‘เผดิมภพ’ ก็บอกว่า ความจริงหลักการทำงานของเขานี้ไม่ได้เป็นแบบแผนเฉพาะสำหรับคนในตลาดทุนเท่านั้น สิ่งที่ยากกว่าหลักการ นั่นคือ การปฏิบัติ โดยเฉพาะที่ใฝ่ฝันอยากจะเข้ามาเป็นบุคลากรในวงการตลาดทุน ซึ่งปัจจุบันน่าจะมีโอกาสและเส้นทางที่เข้าถึงง่ายกว่า และบทสนทาดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นเข็มทิศบอกเส้นทางเดินในอนาคตได้ว่า เราจะสามารถเดินสู่เป้าหมายชีวิตอย่างไรได้อย่างสง่างาม…