HomeUncategorizedรัฐบาลใหม่มาแล้ว ลงทุนอย่างไรต่อ?

รัฐบาลใหม่มาแล้ว ลงทุนอย่างไรต่อ?

เมื่อ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารของประเทศ และจะมีการแถลงนโยบายการบริหารประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ก.ค. คำถามคือว่า แล้วภาคการลงทุนหรือตลาดหุ้นจะไปอย่างไรกันต่อ เมื่อดัชนีหุ้นเริ่มทรงตัวไม่ไปไหน

  • “กวี ชูกิจเกษม” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยกับ StockRadars ว่า หากมองปัจจัยในประเทศเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลถือว่าตลาดหุ้นไทยและหุ้นที่เกี่ยวข้องในประเทศรับข่าวไปมากแล้วพอสมควร โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันให้มองรวมเรียกเป็นกลุ่มโลจิสติกส์ไปแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือกลุ่มรับเหมาก่อสร้างราคาหุ้นได้ปรับขึ้นสูงมากกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ต้องรอดูผลประกอบการครึ่งปีหรือไตรมาส 2 ออกมาก่อน เพราะตอนนี้ราคาหุ้น (Price) ปรับขึ้น จนกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตามไม่ทัน (Earning)
  • สิ่งที่ต้องติดตามมา คือ การที่แต่ละพรรคจะผนึกนโยบายตอนหาเสียงมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ซึ่งกระทรวงหรือหน่วยงานสำคัญก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของพรรคพลังประชารัฐเป็นหลัก แต่ด้วยคะแนนเสียงที่ปริ่มน้ำของรัฐบาล สิ่งที่อาจจะมีโอกาสเห็นในช่วงแรกคือ การเร่งให้เกิดจากภาคการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องมีการทำให้เกิดร่างสัญญาว่าจ้าง (ทีโออาร์) ในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ให้จบโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้กลุ่มรับเหมาก่อสร้างได้อีกแรงหนึ่ง

“ตอนนี้สิ่งที่จะประคับประคองหรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักคือ การลงทุนของภาครัฐ เพราะการกระตุ้นนโยบายด้านอื่นทำได้เพียงระยะสั้นและเกิดขึ้นได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น การจะย้อนกลับไปใช้นโยบายประกันราคาหรือจำนำสินค้าเกษตรไม่ได้ รวมทั้งใช้มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในการซื้อบ้านหรือรถไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนไทยสูงมาก ดังนั้น ระยะสั้นดัชนีหุ้นไทยน่าจะมีการปรับฐาน และหุ้นที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่น่าลงทุนในระยะสั้น แต่ในระยะกลาง-ยาว ยังมองว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอีอีซียังเป็นโอกาสที่น่าลงทุนได้แต่ต้องรอให้หุ้นมีการปรับฐานก่อน”

  • ปัจจัยในประเทศตอนนี้มีข่าวบวกที่จะมาสนับสนุนน้อย เพราะต้องรอดูการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ยังล่าช้าอยู่ ผลประกอบการไตรมาส 2 หรือ ครึ่งปีของ บจ. ที่น่าจะมีการชะลอตัวลงตามผลิตภัณฑ์มวลรวมเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) และตัวเลขการส่งออกของประเทศที่ลดลงจากผลของสงครามการค้าโลก แต่ต้องถือว่าประเทศไทยยังมีเศรษฐกิจที่ยังไปได้ในเชิงเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จากการลงทุนของภาครัฐ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวเชื่อได้ว่าจะกลับมาหลังที่สงครามการค้าได้เบรกการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไว้

“แนวโน้มกำไร บจ. ไตรมาส 2 จะชะลอตัวตามเศรษฐกิจหลัก เพราะเกิดช่องว่างในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล การท่องเที่ยวไม่คึกคัก อสังหาริมทรัพย์กำไรไม่น่าจะออกมาดี และกลุ่มพลังงานจะขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน”

  • มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาสกัดการเก็งกำไรของค่าเงินบาท โดยลดวงเงินของบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศจาก 300 ล้านบาทเหลือ 200 ล้านบาทต่อราย และการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น แม้จะเป็นเพียงมาตรการที่คาดว่ามีผลระยะสั้น แต่ก็ถือว่าได้ผล

“เม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาครั้งนี้ จนทำให้แบงก์ชาติต้องออกมาตรการ แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นเงินที่เข้ามาเก็งกำไร (Hot Money)จริงๆ และเริ่มเห็นผลจากที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง อีกทั้งหากดูค่าฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เห็นนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีสถานะขาย (Short) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าถึง 34,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่มีสถานะซื้อ (Long) เป็นส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นการปรามที่ได้ผล เพราะไม่เช่นนั้นแบงก์ชาติพร้อมที่จะยิงกระสุนในมือที่เหลือออกมา โดยไม่ต้องห่วงเนื่องจากมีเงินทุนสำรองที่เข้มแข็ง”

  • ปัจจัยต่างประเทศก็น่าจะเริ่มหมดการรับรู้ข่าวเชิงบวก จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลง เนื่องจากปกติผลของนโยบายทางการเงินจากจะเห็นผลช้ากว่านโยบายทางการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ช้ากว่า อีกทั้งเชื่อว่าผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะยังไม่จบง่ายๆ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 2 ของ บจ.ในสหรัฐมีโอกาสที่จะชะลอตัวเช่นกัน และยังมีความกังวลต่อการทำ Brexit ของอังกฤษอยู่

“จากระดับดัชนีปัจจุบันที่เคลื่อนไหว 1,720 จุด เทียบกับเป้าหมายดัชนีหุ้นปีนี้ที่นักวิเคราะห์หลายแห่งตั้งไว้ที่กรอบ 1,760-1,780 จุด ทำให้เห็นว่าส่วนต่างที่ดัชนีหุ้นจะปรับขึ้นได้อีกมีไม่ได้มากแล้ว หุ้นปรับฐานถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลจากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนได้คาดผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จนราคาหุ้นหลายกลุ่มหรือหลายตัวมีราคาแตะสูงสุดกันในรอบรายปี”

  • หุ้นที่จะยังพอลงทุนได้และต้องเลือกเป็นรายตัว นั่นคือ กลุ่มที่ยังเกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ อย่างกลุ่มค้าปลีก กลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร เพราะการแข่งขันไม่ได้สูง และมีการระบุค่าใช้จ่ายจากการประมูลกันไม่มากแล้ว และจากผลประกอบการล่าสุดของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ก็ออกมาดี ขณะที่รอกลุ่มรับเหมาก่อสร้างอ่อนตัว หรือกลุ่มที่คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2 จะออกมาดีอย่างสินค้าประเภทเครื่องดื่ม
  • บล.เคทีบี ระบุว่า นักลงทุนควรรอจังหวะเข้าลงทุน หลีกเลี่ยงหุ้นที่นักลงทุนต่างประเทศที่ซื้อเข้าไปมากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ข้อมูล NVDR Trading) เพราะเสี่ยงต่อการถูกขายทำกำไร เช่น CPALL AOY SCC ADVANC KBANK BDMS LH INTUCH และ PTT
  • SCB CIO Office แนะนำให้ติดตามผลประกอบการ บจ.สหรัฐ ไตรมาส 2 โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ ซิตี้ กรุ๊ป, โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน, แบงก์ ออฟ อเมริกา และมอร์แกน สแตนลีย์ โดยคาดการณ์ผลประกอบการของ บจ. ในดัชนี S&P500 ไตรมาส 2 จะ -2.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ -0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากปี 2559 ที่กำไร บจ.จะหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยผลประกอบการของหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Utilities และ Healthcare คาดว่าจะขยายตัว ขณะที่หุ้นกลุ่ม Materials และกลุ่ม Technology ที่ได้รับผลกระทบสงครามการค้า
  • บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า เงินทุนต่างชาติมีโอกาสจะไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น หลังมีรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง และรวมถึงสถานะทางการเงินของไทยที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท เติบโตมากว่า 10 เท่า จากปี 2549 ผลดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมโอกาสได้รับการปรับอันดับเครดิตเรทติ้ง จาก S&P ยกระดับ Credit Rating ไทยขึ้นจาก BBB เป็น BBB+ ได้ เท่ากับเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือ และหนุนให้ต่างชาตินำเงินมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งต้นทุนการกู้ยืมเงินของประเทศจะลดลง ช่วยหนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น