HomeUncategorizedเรื่องวุ่นๆ หุ้นโรงไฟฟ้า จะลงทุนต้องเลือกรายตัว

เรื่องวุ่นๆ หุ้นโรงไฟฟ้า จะลงทุนต้องเลือกรายตัว

  • เป็นแรงกระเพื่อมกันมาอีกระลอกสำหรับข่าวกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า เพราะมีเอกสารจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยให้รัฐต้องเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ามากกว่า 51% หรือถือหุ้นในบริษัทที่ขายไฟเข้ารัฐมากกว่า 51% เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศตามคำร้องเรียน และมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2561-2580 (PDP2018) ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับจากวันที่ 1 ก.ค 2562 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนรายได้การผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายใน 10 ปี นับจากปีนี้เป็นต้นไป และทำให้วันที่ 4 ก.ค. มีแรงเทขายหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามาทั้งหมด
  • แต่ในวันเดียวกัน “สารัชถ์ รัตนาวะดี” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (GULF)  แจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ซื้อหุ้น จำนวน 1 ล้านหุ้น ที่ราคา 125.50 บาท หรือใช้เงินทั้งหมด 125.5 ล้านบาท ทำให้มีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 219 ล้านหุ้น
  • 1360535 ก.ค. ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่กลับมาปิดในแดนบวก มีเพียง CKP ปิดในแดนลบ ขณะที่ BCPG กับ GULF ราคาหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากวานนี้ และราคา GULF ก็ปิดในราคาที่คุณสารัชถ์ได้เข้าซื้อไป
  •  “กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะเร่งพิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวตามขั้นตอน พร้อมทั้งยืนยันว่าการดำเนินงานตาม PDP ที่ผ่านมา ที่ให้เอกชนมีบทบาทร่วมในการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 ถึงล่าสุด PDP 2018 เป็นการดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด
  • “มนูญ ศิริวรรณ” คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเพียงคำเสนอแนะ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะไม่ทำตามก็ได้ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง ที่กำหนดว่า การดำเนินกิจการด้านสาธารณูปโภคต้องมีความมั่นคง รัฐต้องมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของกิจการ โดยหากศาลพิจารณาเห็นชอบตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมีผลให้กระทรวงต้องปฏิบัติตาม
  • กรณีกระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินทันที ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนคือ กระทรวงพลังงานต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงนโยบาย PDP 2018 ได้ จากนั้นจะต้องส่งเรื่องกลับมาให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธาน เพื่อสั่งการปรับเปลี่ยนแผน PDP 2018 ต่อไป ซึ่งกระบวนดังกล่าวเป็นไปได้ยากที่ดำเนินการทันใน 120 วัน

โบรกฯ ชี้ทำตามยาก-ลงทุนหุ้นโรงไฟฟ้าต้องเลือกรายตัว

  • นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิตี้ เปิดเผยว่า ข่าวดังกล่าวจะมีผลต่อกลุ่มอุตสาหกรรมการแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น มองว่าขั้นตอนการปฏิบัติเป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะเท่ากับภาครัฐได้ย้อนกับไปเมื่อปี 2532 ที่ตอนนั้นจุดประสงค์ดึงให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ที่ต้องการให้รัฐบาลลดต้นทุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแต่ถ้ามาทำใหม่รัฐจะเอาเงินจากไหนมาลงทุน
  • ราคาหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ถือว่าแพงไปแล้ว เพราะราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) สูงไปถึงกว่า 100 เท่า ขณะที่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ราคาก็ขึ้นมาสูงจนเต็มมูลค่าพื้นฐาน แต่ตอนนี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เป็นตัวที่แนะนำ เพราะมีโอกาสที่ขยายการลงทุนได้อีกในต่างประเทศ มีการจ่ายเงินปันผลให้อัตราผลตอบแทน  4-5% และยังมีกำไรสะสมมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ราคาที่ 64 เป็นระดับที่เหมาะสม
  • บล.เอเชีย พลัส มองเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% ภายใน 10 ปี ทำได้ยาก เพราะการทบทวนแก้ไขแผน PDP2018 เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา รวมถึงเชื่อว่า กฟผ.อาจมีข้อจำกัดในด้านเงินลงทุนหาก กฟผ.ต้องมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มนี้ได้ปรับขึ้นเร็วและแรงในช่วงที่ผ่านมาจนเกินมูลค่าพื้นฐาน ประกอบกับประเด็นดังกล่าวเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นในกลุ่ม ดังนั้น จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลงเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานได้
  • บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เคยปรับลดน้ำหนักหุ้นกลุ่มนี้ เพราะราคาหุ้นปรับขึ้นกว่าดัชนีตลาดไปมาก แต่การที่ราคาหุ้นอ่อนตัวถือเป็นโอกาสทยอยสะสมอีกครั้งในหุ้นที่เริ่มมี Upside จำกัด อย่าง BGRIM RATCH รวมถึง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เหมาะกับผู้รับความเสี่ยงการเพิ่มทุนได้
  • บล.กรุงศรี มอง GPSC BGRIM บริษัท บ้านปู เพา เวอร์ (BPP) และ บริษัท บีซีพีจี (BCPG) คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้จำกัด เนื่องจากผู้ผลิตกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มี Growth story ของการเพิ่มกำลังการผลิตอยู่ในต่างประเทศ เช่นเดียวกับ EA ที่มุ่งเน้นสู่ธุรกิจแบตเตอร์รี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว แนะนำ GPSC BGRIM และ EA

EAยันไม่กระทบแต่รัฐควรแก้การจัดสรรให้เอกชนอย่างเป็นธรรม

“ออมสิน ศิริ” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยกับ StockRadars ว่า ข้อโต้แย้งก็มีมุมที่น่ารับฟังการเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้า และเพื่อลดบทบาทการควบคุมการผลิตลง แต่อยากให้เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการในการคัดเลือกเอกชนเข้ามา ไม่อยากให้ใช้แบบวิธีเดิม เพราะอาจจะเป็นการถอยไปสู่กรอบวิธีการทำงานแบบเดิม ซึ่งมี 2 ปัจจัยหลัก คือ

  • 1.ถ้ารัฐจะต้องเป็นผู้ลงทุนเอง จะต้องเอาเงินจากไหนเข้าไปซื้อหุ้น 2.เรื่องเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปกติความคล่องตัวของคนหรือองค์กรหน่วยงานภาคเอกชนจะมีการปรับตัวได้เร็วกว่าภาครัฐ

“ประเด็นนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อ EA โดยตรง แต่เห็นด้วยว่าต้องปรับวิธีการทบทวนแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ ควรกำหนดชัดเจนเหมือนกรณีรัฐเคยดึงให้เอกชนลงทุนในการก่อสร้างโครงร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าหรือทางด่วน ว่าควรเปิดให้ลงทุนและดำเนินการกี่ปีก่อนที่จะมีการโอนกลับเข้ามาเป็นของรัฐ คีย์เวิร์ดสำคัญที่อยากให้ทำคือ การเปิดให้เอกชนพัฒนาอย่างเป็นธรรมจริงๆ”

  • สรุป มองว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมระยะสั้น เพราะการผลิตโรงไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ก็มีการตุนกำลังการผลิตที่สำรองกันในระดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ว่าจะรับเรื่องในสิ่งที่ สตง.ได้ส่งหนังสือไปหรือไม่