เพื่อนๆ ลองนึกภาพดูครับ ถ้าเราเป็นคนที่มีฐานะปานกลาง พ่อแม่ไม่มีเงินทองจะกองให้และไม่ได้มีสติปัญญาในระดับอัจฉริยะด้วย เรียนจบปริญญาตรีตอนอายุซัก 22 แล้วก็ทำงานไปเรื่อยๆ จนอายุ 60
ถ้าเราบอกว่า เราทำงานรับเงินเดือนก็มีเงินใช้ตลอดไม่เดือดร้อนอะไร แต่คำถามคือ…
แล้วหลังอายุ 60 ล่ะ เราจะเอาเงินจากไหนมาใช้?
คำตอบของเพื่อนๆ อาจจะบอกว่า เงินออมไงล่ะ และนิยามคำว่าการออมเงินที่คนทั่วๆ ไปมักจะนึกถึงเป็นลำดับแรกก็คงไม่พ้นเงินฝากในธนาคาร
ถ้าพูดถึงเงินฝากในธนาคาร เราเริ่มต้นฝากเงินกันตอนอายุเท่าไหร่ครับ
จากที่ผมเจอมา ในช่วง 3 ปีแรกของการทำงาน การเก็บเงินดูจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญมาก และคงไม่เป็นความผิดร้ายแรงอะไรนักที่เราจะใช้ชีวิตในช่วงนี้อย่างเต็มที่ (ชีวิตเป็นของเรา ใช้ซะ!!! พี่ตูนได้กล่าวไว้) ถ้าประมาณคร่าวๆ สมมติว่า เพื่อนๆ เริ่มเก็บเงินตอนอายุ 25 เราจะมีเวลาเก็บเงินอีก 35 ปี จนกว่าจะเกษียณ (60 ปี)
แล้วถ้าเราต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณไปจนอายุ 70 ล่ะ
เราต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่
ลองคิดแบบง่ายที่สุด เพื่อนๆ มีเวลา 35 ปี เพื่อเก็บเงินให้พอเป็นค่าใช้จ่ายของระยะเวลา 10 ปี โดยจะใช้เงินเดือนละ 25,000 บาท (เกษียณทั้งทีขอแบบอู้ฟู้หน่อย ไม่อยากเกษียณแบบอดๆอยากๆ) หรือปีละ 3 แสนบาท 10 ปีก็ 3 ล้านบาท ถ้าสุขภาพแข็งแรงอายุยืนกว่าคนอื่นก็เพิ่มไปอีกสัก 1 ล้านบาทแล้วกัน
นั่นคือ เพื่อนๆจะต้องมีเงินเก็บให้ได้ 4 ล้าน ก่อนอายุ 60 หรือเฉลี่ยแล้วต้องเก็บเดือนละ 9,524 บาท บางคนอาจจะคิดว่าไม่เยอะ เพราะมีโบนัสหรือเงินเดือนที่จะเพิ่มขึ้นมาตามอายุงานอีก
แต่…อย่าลืมว่าเรายังไม่ได้พูดถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่านมลูก ค่าเทอมลูก ค่าพาแมวไปหาหมอ ค่ารถพาอาม่าไปเต้นแอโรบิก แค่พักก็แอบปาดเหงื่อแล้วครับ ยังไม่นับเงินสดที่สำรองไว้ยามฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วยหรือตกงานอีก
ถ้ายังคิดว่าบริษัทที่อยู่มั่นคงแล้วล่ะก็ขอให้นึกถึงช่วงต้มยำกุ้งเอาแล้วกัน โบนัส 10 เดือน เงินเดือนสูงลิบหายไปในพริบตา
คำพูดที่ว่า “โลกนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน” ก็คงไม่เกินจริงนัก
หลายคนอาจจะบอกว่าดอกเบี้ยจากธนาคารล่ะ ไม่เอามาคิดรวมด้วยเหรอ เราฝากเงินได้ดอกเบี้ยทุกปี เงินก็ต้องเพิ่มขึ้นสิ
ดังนั้นผมจะแนะนำให้รู้จักกับ “เงินเฟ้อ” ศัตรูถาวรของดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะดอกเบี้ยเงินฝากไม่มีทางชนะอัตราเงินเฟ้อได้เลย ลองคิดดูว่า 20 ปีก่อน ข้าวผัดกะเพราไข่ดาวจานละ 20 บาท ตอนนี้ราคาขึ้นเป็น 50 บาทเข้าไปแล้ว แถมได้แต่ข้าวผัดกะเพราด้วยไข่ดาวบวกเพิ่มอีก 10 บาท ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้าคงทะลุ 100 บาทต่อจานแน่ๆ ดังนั้นดอกเบี้ยเงินฝากปีละ 0.75% แทบไม่ได้ช่วยให้เงินเราเพิ่มขึ้นเท่าไหร่เลย (อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันประมาณ 3-4%)
นั่นหมายความว่า เรากำลังถูกบีบให้เลือกทางออกเดียวคือ “การหาผลตอบแทนทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ” ซึ่งเราเรียกวิธีนี้ว่า “การลงทุน” นั่นเอง
สถิติที่น่าสนใจของการลงทุนและการออมในประเทศไทย
83% ของคนไทยไม่มีการออมเงินเป็นประจำ
57% ของคนไทยไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
84% ของคนไทยยังไม่มีการซื้อกรมธรรม์คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณที่มากพอ
หลังจากอ่านมาได้สักพักเราก็ตระหนักได้ว่าเราควรเริ่มต้นลงทุนกันได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ยิ่งเริ่มก่อนยิ่งสบาย
สำหรับเพื่อนที่อยากได้ความรู้เรื่องการลงทุนใหม่ๆ สามารถติดตาม Radars Man ได้ที่
Facebook https://www.facebook.com/stockradars/
Line https://line.me/R/ti/p/@stockradars
You must be logged in to post a comment.