HomeUncategorized(พาชม) เหตุและผลของวิกฤตปี 40...ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !

(พาชม) เหตุและผลของวิกฤตปี 40…ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !

ถ้าพูดถึงวิกฤตทางการเงิน ครั้งใหญ่ของไทย คงหนีไม่พ้น “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” (Tom Yum Kung Crisis) ที่สร้างบาดแผลและหนี้สินให้คนไทย ซึ่ง ณ วันนั้นก็ผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่หนี้สินยังอยู่ และคนไทยทุกคนยังคงเป็นหนี้ 930,288,000,000 บาท

ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก ที่ตอนนี้มีนิทรรศการดีๆเกี่ยวกับวิกฤตในครั้งนั้น จัดแสดงให้พวกเราได้เรียนรู้ฟรี ในหัวข้อ “ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!” จัดขึ้นที่มิวเซียนสยาม (Museum Siam) ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 นี้ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นคลังความรู้ชั้นเลิศ เหมาะสำหรับทุกคน แล้วยังอยู่ภายใต้กิมมิคง่ายๆ ว่า “วิชานี้อย่าเลียน” (แบบ) …งั้นผมคงต้องขอ “เรียน” (รู้) หน่อยแล้วกันนะ

.

(สปอยนะฮะ ใครยังไม่ได้ไปชม แนะนำให้ลองไปดูนะ)

.

เริ่มต้นก้าวเข้าสู่ “มิวเซียมสยาม” แถวๆป้อมปราบ … ถ้าเจอตึกสีเหลืองๆ ทรงคลาสสิก บรรยากาศร่มรื่นๆ ก็เลี้ยวเข้ามาเลยฮะ

แต่ที่ตัวตึกกำลังปิดปรับปรุงอยู่ฮะ (เดินระวังๆกันหน่อยนะ) ตรงส่วนของนิทรรศการจะอยู่ตรงต้นไม้ใหญ่ๆ เป็นห้องกระจก สีน้ำเงินๆ … เปิดประตูเข้ามาจะพบกับ “หนี้” (ก้อนใหญ่มาก) 930,288,000,000 บาท …เข้ามาถึงก็ผงะทันที! หนี้ก้อนนี้เป็นของพวกเราทุกคนนะ โฮ๊ะๆๆๆ (โบกพัดแสดงความรวยเหมือนในหนังจีน) ซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่คนละ 14,153 บาท !

เพราะหนี้ก้อนนี้ได้ผ่านการโอนหนี้ “เอกชน” ให้เป็นของ “รัฐ” ซึ่งนั่นแปลว่าเป็นภาระของคนทั้งประเทศ เป็นจำนวน 1,401,450 ล้านบาท ผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งที่ผ่านไป 18 ปี เราก็ใช้เงินต้นไปแล้วนะ แต่! คืนไปเพียง 33.61% (471,027 ล้านบาท) นั่นก็คือ … ยังเหลือหนี้อีกกว่า 9 แสนล้านบาท!

และหนี้สิน ก็พ่วงมาด้วย “ดอกเบี้ย” อันหฤโหด ซึ่งภาระดอกเบี้ย FIDF ที่จ่ายโดยกระทรวงการคลังและกองทุนฟื้นฟู ได้จ่ายไปแล้ว 904,600 ล้านบาท .. เห้ย! ดอกเบี้ยเกือบเท่าเงินต้นทั้งหมดเลยหรอ (-.-)? ซึ่งในนิทรรศการก็เปรียบเทียบมูลค่ามาให้ง่ายๆ ว่าถ้าเราไม่เอาไปจ่ายดอกเบี้ย แล้วเราเอาเงินไปทำอย่างอื่น…มันจะเหมือนเราได้รถไฟความเร็วสูงความยาวมากถึง 1,672 กิโลเมตรแน่ะ

 

ซึ่งหนี้สินที่เกิดขึ้นก็มาจากหลายส่วน เช่น

37% มาจาก 56 บริษัทเงินทุน (519,748 ล้านบาท)

19.08% มาจาก ธนาคารกรุงไทยและบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (267,462 ล้านบาท)

15.13% มาจาก ธนาคารศรีนคร ธนาคารนครหลวงไทย และบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี (212,053 ล้านบาท)

10.53% มาจาก ธนาคารไทยธนาคาร (147,593 ล้านบาท)

8.56% มาจาก ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (118,555 ล้านบาท)

2.47% มาจาก ธนาคารมหานคร (34,589 ล้านบาท)

2.34% มาจาก ธนาคารยูโอบีรัตสิน บริษัทบริหารสินทรัพย์รัตนสิน และบริษัทเงินทุนรัตนสิน (32,771 ล้านบาท)

…และอื่นๆๆๆ

มีการพูดถึง เรื่องประกาศชำระคืนหนี้งวดสุดท้ายให้แก่ไอเอ็มเอฟ โดยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 6 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 จากจำนวนหนี้ทั้งหมด 5.1 แสนล้านบาทที่รัฐบาลไทยกู้มา เป็นการปลดภาระหนี้วิกฤตต้มยำกุ้งทั้งหมดแล้ว … ซึ่งมันคนละเรื่องกันนะ … ความจริง “หนี้ไอเอ็มเอฟ” เป็นการกู้เพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นแค่ส่วนน้อยที่รัฐบาลไทยต้องจ่ายเพื่อดำรงนโยบาย “สถาบันการเงินล้มไม่ได้” เราเสียเงิน 1,401,450 ล้านบาท ผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จนถึงปัจจุบัน (2560) เรายังมีหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เหลืออยู่ 930,288 ล้านบาท ตามที่ได้พูดถึงไว้นั่นแหละ!

และถ้าย้อนไปถึงช่วง “สังคมฟองสบู่” หรือหลายคนเรียกเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ คือภาวะราคาของสินทรัพย์สูงกว่าราคาจริง จนคนคิดว่า ราคาจะขึ้นสูงไปเรื่อยๆๆๆๆ จึงเกิดการเก็งกำไรอย่างหนักหน่วง! ซึ่งจุดเริ่มต้นนั้นมาจากกลุ่มทุนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย นั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยจากรายงานของธนาคารโลกประจำปี 2538 ระบุว่าในรอบ 10 ปี (2528-2538) เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงที่สุดในโลกเลยนะ!

และหุ้นที่ถือว่าเด่นสุดๆในตลาดหุ้นช่วงนั้น คงหนีไม่พ้น “หุ้นฟินวัน” บริษัท เงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ราคา IPO ที่ 3 บาท ได้ขยับขึ้นไปสูงถึง 213 บาท ในเวลาแค่ 5 ปี และราคาสูงสุดที่ 500 บาท ในปี 2529 (อูยยยยยยยย เยอะไปมั๊ยฮะ)

ซึ่งจุดที่สำคัญของวิกฤตครั้งนี้ อีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องนี่เลย.. “ดอกเบี้ย” ซึ่งภายหลังเข้าโครงการกู้เงินกับไอเอ็มเอฟตั้งแต่ สิงหาคม 2540 – มิถุนายน 2541 รัฐบาลได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 15-20% นั่นทำให้ ทั้งระบบชะงัก! ยิ่งฝั่งอสังหาริมทรัพย์นี่ถูกระงับสินเชื่อกันกระทันหันเลย

“เร็วและแรงเกินไป ฟองน้อยๆก็ดูท่าจะไม่ไหว”

และเมื่อฟองสบู่แตก ทำให้ 1 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนต้องถอนตัวออกไป .. จากเดิมมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท กลับเหลือเพียง 700 ล้านบาท ยิ่งกว่านั้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 ดัชนี SET ลงไปอยู่ที่ 207.31 จุด !

แล้ว ถ้าเราไม่ยอมแพ้ล่ะ?

หลังจากฟองสบู่แตก สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก เช่น รัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2540-2541 เป็นปี “Amazing Thailand” ปรับตัวหารายได้จากการท่องเที่ยวจากทั้งต่างชาติและไทยเอง และยิ่งสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนไป ทำให้มีตลาดนัดแบบ “เปิดท้ายขายของ” ของพนักงานบริษัทที่ถูกเลิกจ้างหรือเจ้าของที่เลิกกิจการไปก็มาร่วมด้วย และยังมี “ตลาดนัดคนเคยรวย” ของ นายวสันต์ โพธิพิมพานนท์ ประธานกรรมการบริัทเบนซ์ ทองหล่อ ใช้โชว์รูมของบริษัทจัดตลาดนัดขึ้น .. และยังมีของๆคนรวย ที่ถูกนำมาขายต่ออีกหลายอย่าง ที่ถูกนำมาโชว์นะครับ (ใครมาแอบอ่านสปอยก่อน แนะนำให้ไปดูต่อที่นิทรรศการนะ)

.

งานนี้ถือว่าเป็นงานดีมากๆๆๆ และสุดท้ายผมต้องขอขอบคุณหลักสูตร “ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน!” ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงต้นเหตุ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนั้น … ซึ่งผลสุดท้ายแล้ว ประวัติศาสตร์นี่แหละ ที่จะทำให้พวกเรามีภูมิต้านทานที่ดีขึ้น…ไม่ว่าเหตุการณ์จะแย่ขนาดไหน เราก็จะผ่านมันไปได้

“วิกฤตมีค่าเสมอ ถ้าเปิดใจและเรียนรู้จากมัน”